จากกรณีที่ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศ ขึ้นทะเบียน “ปลิงทะเลเกาะยาว” เป็นสินค้า GI ลำดับ 4 ของจังหวัดพังงาต่อจากทุเรียนสาลิกาพังงา ข้าวไร่ดอกข่าพังงา และมังคุดทิพย์พังงา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ 3.3 ล้านบาทต่อปี
 

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา บริเวณริมทะเลหาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา พบกับนางอาภรณ์ เทพพานิช ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา ซึ่งได้นำผู้สื่อข่าวชมการเพาะเลี้ยงปลิงทะเลเกาะยาว ภายในโรงเรือน ที่เริ่มตั้งแต่การเก็บพ่อแม่พันธ์จากธรรมชาติ ในพื้นที่อำเภอเกาะยาว มาทำการเพาะพันธ์โดยการผสมไข่และน้ำเชื้อ จากนั้นเมื่อได้ตัวอ่อนก็นำไปอนุบาล จนได้ลูกปลิงระยะว่ายน้ำประมาณ25-30 วัน แล้วนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ
   

นางอาภรณ์ เทพพานิช  กล่าวว่า ปลิงทะเล ชนิดปลิงขาว กรมประมงโดยศูนย์ฯ ประจวบคีรีขันธ์ ได้ดำเนินการวิจัยเพาะพันธุ์ อนุบาล ตลอดจนส่งเสริมการเลี้ยงสู่เกษตรกรและหน่วยงานอื่นๆที่สนใจ ศูนย์ฯ พังงา ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้มาเพื่อพัฒนาการเพาะพันธุ์ปลิงทะเลในจังหวัดพังงา ปลิงทะเลเกาะยาว มีความโดดเด่นเรื่องความสมบูรณ์ของตัวปลิง ขนาดใหญ่ เนื้อหนาและแน่น ความสมบูรณ์ของตัวปลิงอีกอย่างหนึ่งสังเกตได้จาก ความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธ์ เมื่อนำมาเพาะพันธุ์ พบว่าพ่อแม่พันธุ์ปลิงมีความแข็งแรง การเพาะพันธุ์สามารถให้ปริมาณไข่และน้ำเชื้อดีมาก เมื่อเปรียบเทียบจากแหล่งอื่นๆ พบว่าพ่อแม่จากเกาะยาวคุณภาพดีที่สุด ปัจจุบันทางศูนย์ฯ ได้นำพ่อแม่พันธุ์ปลิงขาวจากเกาะยาวมาเพาะพันธุ์ในโรงเพาะฟัก อนุบาลเป็นระยะว่ายน้ำอายุประมาณ 25-30 วัน (ระยะโดลิโอลาเรีย) นำไปปล่อยสู่แหล่งธรรมชาติในบริเวณเกาะยาว เกาะยาวน้อย เพื่อเสริมความสมบูรณ์ให้แก่แหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรสามารถเพาะพันธ์ลูกปลิง ไปเลี้ยงต่อได้เอง