จากการตรวจพบยาปฏิชีวนะตกค้างในปลากะพงขาวแช่เย็นนำเข้าจากมาเลเซีย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับกรมประมง จึงได้ประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ต้องมีผลการตรวจวิเคราะห์ (Certificate of Analysis: COA) ที่แสดงว่า ปลอดสารตกค้างประกอบการขออนุญาตนำเข้า เพราะหวั่นเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า จากประเด็นดังกล่าว ทางฝ่ายมาเลเซียได้ขอหารือเพื่อร่วมวางมาตรการควบคุมการนำเข้า โดย มกอช. ได้มอบหมายให้นางสาวรวินันท์ ฉ่ำเฉลิม ผู้อำนวยการกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ร่วมกับผู้แทนจากกรมประมง ในการประชุมเชิงเทคนิคกับกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย 

ในการประชุมดังกล่าว ฝ่ายไทยได้อธิบายรายละเอียดในการยกระดับมาตรการควบคุมการนำเข้า ประกอบด้วยขั้นตอนการนำเข้าและมาตรการที่จะใช้ในอนาคต หากยังตรวจพบสารเคมีตกค้างในสินค้าปลากะพงขาวจากมาเลเซียอีก ซึ่งฝ่ายมาเลเซียรับทราบ และขอให้ไทยเลื่อนกำหนดเวลาการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวออกไปอีก 6 เดือน แต่ฝ่ายไทยยืนยันความจำเป็นที่ต้องเริ่มบังคับใช้ทันที เพื่อปกป้องผู้บริโภคภายในประเทศ และยินดีจะหารือกับฝ่ายมาเลเซีย เพื่อจัดทำแนวทางการควบคุมความปลอดภัยอาหารในสินค้านำเข้าและส่งออกร่วมกันต่อไป

“มาตรการใหม่นี้จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 โดยผู้นำเข้าปลากะพงขาวจากมาเลเซียต้องมีหนังสือรับรองผลการตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง (Certificate of Analysis: COA) ที่แสดงว่าปลอดจากการตกค้างของสารเคมี 4 กลุ่ม ได้แก่ Chloramphenicol, Malachite Green, Nitrofuran Metabolite และยาปฏิชีวนะกลุ่ม Fluoroquinolone & Quinolone ซึ่งหากไม่มีหนังสือรับรองดังกล่าวประกอบการนำเข้า สินค้าจะต้องถูกอายัด

ที่ด่านนำเข้าเพื่อรอผลตรวจวิเคราะห์ทุกล็อต หากตรวจไม่พบสารตกค้าง จึงจะสามารถนำเข้าได้” เลขาธิการ มกอช. กล่าว 

ทั้งนี้ การตรวจพบสารตกค้างจะมีผลต่อผู้นำเข้า ดังนี้ 

1. มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร 2522 มาตรา 28 นำเข้าอาหารผิดมาตรฐานเพื่อจำหน่าย ลงโทษตามมาตรา 60 ปรับไม่เกิน 50,000 บาท

2. การนำเข้าสินค้าในครั้งต่อไป หลังผลตรวจวิเคราะห์พบสารตกค้าง สินค้าจะต้องถูกอายัดเพื่อรอผลการตรวจวิเคราะห์ หากผลตรวจผ่านจึงจะนำไปจำหน่ายได้ หากไม่ผ่านจะถูกทำลายหรือดำเนินการตามที่เหมาะสม  

3. หากพบสารตกค้าง 3 ตัวอย่าง นับรวมตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน อาจถูกเพิกถอนหรือถูกพักใช้ใบอนุญาต อ.7 (การขออนุญาตนําหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักร) จะส่งผลให้ไม่สามารถขออนุญาตนำเข้าส่งออกสินค้าต่อไปได้