วันที่ 5 มี.ค.67 ที่ห้องประชุมอาคารพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี นายชูพงศ์ อิศรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ นายณัทเศรษฐ์ ถิรวัฒน์ธนกร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสระบุรี นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและ ผู้ทรงคุณวุฒิ ลงพื้นที่ติดตามแผนปฎิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ โครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
โครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก ตั้งอยู่ใน ตำบลวังม่วง ตำบลคำพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี กรมชลประทานได้ศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เมื่อปี 2553 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2560 สามารถเก็บกักน้ำได้มากกว่า 61 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้กว่า 25,500 ไร่ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่สถานีสูบน้ำแก่งคอย-บ้านหมอ ในฤดูแล้งได้กว่า 14,000 ไร่ รวมไปถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎร การประมง และการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำ อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย
ในการนี้ กรมชลประทานได้นำเสนอ แผนปฎิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนปฎิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ทั้งสิ้น 27 แผนงาน อาทิ แผนประชาสัมพันธ์โครงการ แผนพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ แผนป้องกันการพังทลายของดิน แผนพัฒนาและส่งเสริมองค์กรผู้ใช้น้ำ แผนการติดตามตรวจสอบสภาพของอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาน้ำผิวดิน แผนติดตามตรวจสอบการกัดเซาะและการตกตะกอน แผนการประเมินการปฏิบัติการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งรับฟังปัญหาความต้องการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมจากกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ และข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำ เพื่อนำไปปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานศึกษาให้มีความครบถ้วนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
จากนั้น ได้นำคณะเดินทางไปยังอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก เพื่อรับฟังแผนการบริหารจัดการของอ่างฯ และอาคารระบายน้ำล้น ซึ่งระบายน้ำเกินความจุได้ 90 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันอีกทั้งยังมีการจัดรอบเวรการส่งน้ำ ด้วยการวางแผนร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทำให้การส่งน้ำเป็นไปอย่างทั่วถึงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด