วันที่ 5 มีนาคม 2567 ที่ศาลาว่าการกทม. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรม “Kick off ระบบเบิกจ่ายตรง เครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร” และมอบหนังสืออนุมัติให้เป็นหน่วยปฏิบัติการแพทย์ในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ประเภทปฏิบัติการแพทย์ ระดับสูงและระดับพื้นฐาน โดยมีนายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้บริหารศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และหน่วยปฏิบัติการแพทย์ในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ประเภทปฏิบัติการแพทย์ ระดับสูงและระดับพื้นฐาน 30 หน่วย เข้าร่วม

รศ.ทวิดา กล่าวว่า อยากให้ประชาชนที่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินไม่ว่าเหตุใดก็ตาม เมื่อเรียกใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องไม่ถูกปฏิเสธ ถูกรับและส่งต่อได้อยากรวดเร็ว ที่ผ่านมาหน่วยปฏิบัติการทำงานอย่างเต็มที่มาตลอด แต่เมื่อการเบิกจ่ายล่าช้าและไม่สะดวกทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดข้อกังวลในการทำงาน ดังนั้นเรื่องระบบเบิกจ่ายตรงนี้จะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินออกไปทำงานได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะสามารถได้รับการชดเชยด้านค่าใช้จ่ายหรือไม่ อีกทั้งเกื้อหนุนระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น 

ด้านนายไพศาล ก้อนจำปา ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่าสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มีความยินดีมากนอกจากระบบเบิกจ่ายตรงแล้วทราบว่ากทม.มีหน่วยปฏิบัติการเพิ่มเติม 67 หน่วยซึ่งเป็นหน่วยระดับสูงจะสามารถให้บริการประชาชนได้เต็มศักยภาพ เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตหรือไม่มีภาวะทุพพลภาพได้ดีขึ้น ซึ่งกทม.ถือเป็นจังหวัดแรกที่มีจำนวนหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูงมากที่สุด และมากไปกว่านั้นมูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เป็น 2 มูลนิธิแรกในเขตกทม.และของประเทศไทยที่จะยกระดับจากพื้นฐานขึ้นเป็นหน่วยปฏิบัติการแพทย์ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินประเภทปฏิบัติการแพทย์ระดับสูง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทรัพยากรการช่วยเหลือประชาชนจากองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรมากขึ้น

อย่างไรก็ตามกทม. ได้ทำความร่วมมือกับสพฉ. ในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรูปแบบต่างๆ มาใช้สำหรับการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินนอกจากการปฏิบัติการทางการแพทย์ที่มีความสำคัญแล้วนั้น ระบบการสนับสนุนด้านงบประมาณและการเบิกจ่ายค่าชดเชยให้แก่หน่วยปฏิบัติการจำเป็นต้องดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องเช่นกัน ดังนั้น สพฉ. จึงได้พัฒนาระบบจัดสรรเงินค่าชดเชยการปฏิบัติการด้วยระบบจ่ายตรงให้กับหน่วยปฏิบัติการ โดยลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดความผิดพลาดของการเบิกจ่าย เพื่อให้เกิดการจัดสรรเงินไปยังหน่วยปฏิบัติการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และตรวจสอบได้

 

#กทม #แพทย์ฉุกเฉิน