กรณีข้อความในประกาศของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ติดไว้บริเวณหน้าอาคารพาณิชย์ 35 คูหา ด้านทิศตะวันตกสถานีรถไฟนครราชสีมา ถ.มุขมนตรี ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนมารีย์วิทยา เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ระบุ “ รฟท.ตรวจสอบแล้ว ขอเรียนปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 251.9 กม. สัญญาที่ 3-5 งานโยธา ช่วงสถานีโคกรวด-สถานีนครราชสีมา และได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าว ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2565 จึงขอแจ้งให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของผู้ให้เช่าและให้ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวคืนในสภาพเรียบร้อย ภายในวันที่ 5 มี.ค 2567 หากไม่ดำเนินการ จะใช้สิทธิดำเนินการฟ้องขับไล่เรียกค่าเสียหายต่อไป พร้อมนำแบริเออร์ไปปิดกั้นด้านหน้าอาคารพาณิชย์ที่มีข้อพิพาทแต่ยังมีผู้เช่า 5 ราย ไม่ยอมย้ายออกและขยับแนวเขตแบริเออร์ ส่วนหนึ่งพยายามเจรจาต่อรองขอค่าขนย้ายและเยียวยา อ้างอยู่อาศัยร่วม 40 ปี ซึ่งข้อเท็จจริงที่ดินผืนดังกล่าวเป็นของ รฟท. และมีเอกชนมาเช่าช่วงก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ เมื่อ 8 ปี ที่ผ่านมา รฟท.ได้บอกยกเลิกสัญญา ผู้เช่าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ตามที่เสนอข่าวมาเป็นลำดับ  

ความคืบหน้าล่าสุด ช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายตามที่ รฟท. ระบุในประกาศ ผู้เช่าได้ยอมขนย้ายทรัพย์สินมีค่าออกจนเหลือตัวอาคารและบริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด ผู้รับจ้างดำเนินงานก่อสร้าง ขอบเขตงาน 1.งานโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทาง 12.52 กม. คันทางระดับดิน 7.85 กม. ทางยกระดับ 4.853 กม. 2.งานสถานีนครราชสีมา 3.งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบไฟฟ้า 4.งานรื้อย้ายต่างๆ รวมมูลค่า 7,750 ล้านบาท ได้ทยอยนำเครื่องจักรหนักมาลงพื้นที่ เตรียมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เพื่อปรับพื้นที่ก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟความสูง 3 ชั้น ให้บริการทั้งรถไฟความเร็วสูงและทางคู่รวมทั้งย้ายอุปกรณ์ เครื่องมือของเจ้าหน้าที่ รฟท. ที่ทำงานอยู่ในสถานีรถไฟนครราชสีมา มาไว้อาคารทั่วคราวด้านข้าง โดยเตรียมรื้อถอนอาคารสถานีเก่าอายุกว่า 80 ปี ในเร็วๆนี้  



ขณะเดียวกันนายจรัล  ทองกระจ่าง พนักงานบริหารงานทั่วไป 8 รฟท. พร้อมเอกชนผู้รับจ้างได้ลงพื้นที่พูดคุยกับนายสุวกฤต  รังสิโรจน์ ประธานชุมชนป่าไม้-191 นายสหพล  กาญจนเวนิช กรรมการหอการค้านครราชสีมา ฐานะผู้ประสานงานผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 64 แปลง 30 ไร่ ทั้งหมดมีเอกสิทธิหรือโฉนดถูกต้องตามกฎหมาย  ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ข้อยุติการจ่ายค่าชดเชยที่ดินเพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงและทางคู่

นายจรัล เปิดเผยว่า ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี รฟท.ในฐานะเจ้าของโครงการได้มาพูดคุยเบื้องต้น เพื่อนัดเวลาให้ผู้รับจ้างลงพื้นที่ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ซึ่งตัวบ้านจะเป็นแนวรถไฟทางคู่ เส้นทางเข้าสู่สถานีชุมทางถนนจิระ ส่วนทางเดิมเป็นแนวเสาตอม่อของโครงการรถไฟความเร็วสูง คาดเริ่มก่อสร้างในเร็วๆนี้ ทั้งนี้ประชาสัมพันธ์ปิดเส้นทาง 3 จุด คือ 1.ถนนเบี่ยงใต้สะพานสีมาธานี 2.ถนนสืบศิริ 6 และ 3.ทางแยกถนนสิบศิริ เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคการก่อสร้างทางรถไฟ