ญี่ปุ่นได้ปล่อยน้ำเสียบำบัดแล้วจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” อีกครั้ง ก.พ.2567 หลังจากปล่อยน้ำทิ้งไปแล้วรวม 23,400 ตัน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว   ซึ่งโรงงาน Tokyo Electric Power Company Holdings (Tepco)วางแผนที่จะเปิดตัวชุดสุดท้ายสำหรับปีงบประมาณ 2566 ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) กล่าวเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2567 ว่า การปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดของญี่ปุ่นจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่อับปางลงสู่ทะเลนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศในรายงานฉบับเต็มฉบับแรก

นับแต่เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อปี 2011 ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อโรงไฟฟ้า และเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย จนต้องปล่อยน้ำเข้าไปหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ส่งผลให้มีน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีหลายล้านตันสะสมอยู่ในโรงงาน เป็นเหตุให้ทางการญี่ปุ่นอ้างว่า จำเป็นต้องปล่อยน้ำเหล่านี้ลงสู่ทะเล

แม้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ จะอนุมัติแผนดังกล่าว แต่ก็ยังสยบกระแสวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงภาคชุมชนที่กังวลต่อการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีไม่ได้

กลุ่มอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลในญี่ปุ่น รวมถึงในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ได้แสดงความวิตกกังวลถึงวิถีชีวิตของพวกเขา เพราะกลัวว่า ผู้บริโภคจะเมินหนีอาหารทะเลจากญี่ปุ่น และประเทศเหล่านี้

หลังญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดและเจือจางเพื่อลดระดับสารกัมมันตภาพรังสีลงสู่ทะเล เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ปีที่แล้ว ได้ไม่กี่ชั่วโมง รัฐบาลจีนประกาศสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด เพื่อปกป้องผู้บริโภคในประเทศ

"เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหาร จากการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสี... และเพื่อพิทักษ์ผู้บริโภคชาวจีน และเพื่อให้มั่นใจว่าอาหารนำเข้าทั้งหมดปลอดภัย กรมศุลกากรได้ตัดสินใจระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางทะเล (รวมถึงสัตว์ทะเลสด) ที่มาจากญี่ปุ่นทั้งหมด ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2023 เป็นต้นไป" แถลงการณ์จากกรมศุลกากรจีน ประกาศ

อันที่จริง จีนจำกัดการนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น รวมถึงฟุกุชิมะและโตเกียว ตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่ฮ่องกงก็ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่นเช่นกัน

ส่วนเกาหลีใต้นั้น ยังห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดฟุกุชิมะ ตั้งแต่ปี 2013

จีนกล่าวหาญี่ปุ่นว่า ใช้มหาสมุทรที่เป็นทรัพยากรส่วนรวม เหมือน “บ่อน้ำทิ้งส่วนตัว” พร้อมวิจารณ์ ไอเออีเอ ว่า “เลือกข้าง” ขณะที่ รัฐบาลเกาหลีใต้ แม้จะสนับสนุนแผนการของญี่ปุ่น แต่ประชาชนจำนวนมากกลับออกมาต่อต้าน

จีนและฮ่องกง ถือเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่นรายใหญ่ โดยเฉพาะจีน ที่นำเข้ามากถึง 20,900 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ส่วนฮ่องกงนำเข้ามากกว่า 18,000 ล้านบาทเมื่อปี 2022

ส่วนกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ภายในญี่ปุ่น ได้รวมตัวกันหน้าสำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อคัดค้านการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ

กลุ่มนักเคลื่อนไหวฯ ระบุว่า มีประชาชนราว 230 คนเข้าร่วมการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นฟังเสียงของกลุ่มชาวประมง และอย่าปล่อย “น้ำปนเปื้อน” ลงสู่ทะเล หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศว่าจะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วอีกรอบหนึ่ง

นายมาซาชิ ทานิ ผู้อำนวยการของสภาญี่ปุ่นฝ่ายต่อต้านระเบิดปรมาณูและระเบิดไฮโดรเจน (Japan Council against Atomic and Hydrogen Bombs) กล่าวว่า “เราไม่รู้ว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่ทะเลจะใช้เวลานานเพียงใด และสิ่งนี้จะทิ้งภาระไว้ให้คนรุ่นหลัง”การตัดสินใจปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วมีขึ้น แม้ว่าจะทำให้เหล่าชาวประมงท้องถิ่นเกิดความกังวล และทางการจีนต่อต้านอย่างรุนแรงก็ตาม

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า มีน้ำปริมาณมากสะสมอยู่ในโรงงานฟุกุชิมะ ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ในปี 2554 ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ

หนึ่งในผู้ชุมนุมนั้น นางมิวาโกะ คิตะมูระ วัย 55 ปีกล่าวว่า “การตัดสินใจอนุมัติปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่ทะเลท่ามกลางการต่อต้านจากภาคอุตสาหกรรมประมงในภูมิภาคโทโฮคุ และจากประชาชนจำนวนมากนั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้

 

หมายเหตุ (อ้างอิงจาก บีบีซีไทย และ เว็บไซท์อื่นๆ)