"จุรินทร์" ซัดรัฐบาลทำงานไม่ทันฝ่ายนิติบัญญัติ โยน”ก้าวไกล”หัวเรือใหญ่ซักฟอก อ้าง”ปชป.”เสียงไม่พอ “สว.วันชัย”ผสมโรงรัฐบาลทำงาน 6 เดือน ยังไร้ผลงาน ชาวบ้านชักจะทนไม่ไหว   ขณะที่“ซูเปอร์โพล’ ระบุผลสำรวจประชาชนปลื้ม “เศรษฐา”ทำงาน 6 เดือน เข้าตากรรมการ ขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน แก้ยาเสพติด หนี้นอกระบบ ปากท้อง ที่ดินทำกิน หนุนอยู่ครบเทอม

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.67 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐมนตรีไม่ไปตอบกระทู้ถามของส.ส.ในสภาฯ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่า โดยข้อเท็จจริงหากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีติดภารกิจสำคัญจนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก็สามารถเลื่อนการตอบกระทู้ถามของสมาชิกได้ แต่ข้อเท็จจริงหลายครั้ง หลายกรณีที่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ก็คือรัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ถาม ด้วยเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น รัฐมนตรีบางท่านไม่เคยมาตอบกระทู้ถามสดของสมาชิก บางท่านแม้เป็นกระทู้ถามทั่วไปที่รู้ล่วงหน้ามาหลายเดือน ก็ยังไม่มาตอบก็มี


นายจุรินทร์ กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่ารัฐบาลชุดนี้ทำงานไม่ทันฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะทำงานไม่ทันฝ่ายค้าน ที่ให้ความสำคัญกับการใช้เวทีของสภาฯเป็นเวทีในการเสนอกฎหมาย สะท้อนปัญหาประชาชน และตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งนอกจากตัวอย่างรัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้แล้ว ที่สำคัญก็คือกฎหมายหลายฉบับที่ฝ่ายค้านเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ และบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระแล้ว แต่ไม่สามารถพิจารณาตามวาระได้ เพราะรัฐบาลเสนอกฎหมายตามประกบไม่ทัน ทำให้รัฐบาลต้องรับกฎหมายหลายฉบับไปพิจารณาก่อนรับหลักการหรือที่เรียกกันเป็นภาษาการเมืองว่าต้องขอ "อุ้ม" กฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือของฝ่ายนิติบัญญัติเอาไปดองไว้ที่ทำเนียบฯ ก่อนระยะเวลาหนึ่ง จนกว่ารัฐบาลจะเสนอร่างของรัฐบาลมาประกบได้ทันในภายหลัง ทำให้กฎหมายที่ถูกรัฐบาลอุ้มเกิดความล่าช้า ประชาชนต้องเสียประโยชน์ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเอาเวลาที่ใช้กับการเดินทัวร์มาให้ความสำคัญกับการออกกฎหมาย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารประเทศของรัฐบาลเองกับงานในสภาฯ ให้มากขึ้น
สำหรับขบวนการตรวจสอบรัฐบาลของฝ่ายค้านในสมัยประชุมนี้ ขึ้นอยู่กับพรรคก้าวไกลเป็นหลักว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดหรือไม่ และถ้าจะมีการอภิปราย จะอภิปรายในรูปแบบของการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ซึ่งต้องใช้เสียง 50 เสียงขึ้นไป หรือในรูปของการอภิปรายไม่ไว้วางใจตาม มาตรา 151 ซึ่งต้องใช้เสียงอย่างน้อย 100 เสียง ซึ่งประชาธิปัตย์มีเสียงไม่พอ จึงไม่สามารถดำเนินการโดยเพียงลำพังพรรคเดียวได้ จึงต้องอาศัยเสียงของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก


ด้าน นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภาโพสต์ข้อความเรื่อง "ไม่มีผลงาน….รัฐบาลพัง" ในเพจ เฟซบุ๊คทนายวันชัย สอนศิริ มีเนื้อความดังนี้  "ไม่มีผลงาน...รัฐบาลพัง" ผ่านมา 6-7 เดือนแล้ว ผลงานยังไม่ออกมาหรือออกมาล่าช้า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำก็จะเสียคนและก็จะกระทบไปยังรัฐบาลโดยรวมด้วย ข้ออ้างเรื่องงบประมาณยังไม่ออกหรือโน่นนี่นั่นชาวบ้านเขาไม่ฟังหรอก ยิ่งคุยใหญ่คุยโตก่อนเลือกตั้งว่าจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ทันที แต่ถึงเวลายังไม่เห็นมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนอกจากงานประจำ ลงพื้นที่ ไปต่างประเทศแล้วก็ประชุมเป็นงานroutine แต่งานที่จะออกมาโดนใจเปรี้ยงปร้างมากกว่ารัฐบาลลุงตู่ยังไม่เห็นเลย


ชาวบ้านเขาก็ชักจะทนไม่ไหว เปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรดีไปกว่ารัฐบาลเก่า กระแสจึงตีกลับกดดันมาเป็นข่าวเรื่องปรับครม.บ้าง เรื่องนายก 2 คน 3 คนบ้าง หรือถึงขั้นเปลี่ยนตัวนายกบ้าง เหล่านี้เป็นเรื่องไม่มีผลดีต่อรัฐบาลทั้งสิ้น ยิ่งขืนปล่อยให้นานวันไปเพื่อไทยก็จะเสียผู้เสียคนไปใหญ่ ก้าวไกลก็จะโตขึ้น ทั้งหมดมาจากความสิ้นหวังที่มีต่อรัฐบาล


รัฐบาลจะล้มได้นั้นก็มาจาก 3 เหตุปัจจัยคือ 1.พรรคร่วมหรือผู้มีอำนาจแตกกันเอง 2. โกงกินทุจริตคอร์รัปชั่น 3.ไม่มีผลงาน ในสถานการณ์นี้สองเรื่องแรกดูจะยังไม่มีปัญหา ยังไงๆ พรรคร่วมเหล่านี้ก็ต้องกอดคอกันไปให้ตลอดรอดฝั่ง จะแตกไปอยู่กับก้าวไกลก็คงจะเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไฟท์บังคับ  ส่วนเรื่องการโกงกินทุจริตคอร์รัปชั่นก็มีให้เห็นทั้งในอดีตและปัจจุบันว่ามีรัฐมนตรีกระเด็นมาแล้วหลายคน ติดคุกติดตะรางยังไม่ออกมาก็มีให้เห็นอยู่ ถ้ายังขืนทะเล่อทะล่าโกงกินเหมือนเก่า ฝ่ายค้านคงลากไส้ออกมาเป็นชิ้นๆ รัฐบาลก็จะย่อยยับมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าคงจะไม่มีใครดันทุรังที่จะทำอย่างนั้น  เรื่องผลงานจึงเป็นเรื่องใหญ่ของเพื่อไทยที่จะต้องพิสูจน์ให้กับประชาชนเห็นเป็นประจักษ์อีกครั้ง มัวเงื้อง่าราคาแพงอยู่ก็จะโดนโห่ฮาปาเวทีไปเปล่า


ใครที่พยายามจะปลุกเสื้อแดงกลุ่มนั้นกลุ่มนี้จังหวัดโน้นจังหวัดนี้ขึ้นมาเชียร์มาให้กำลังใจ ปราศรัยด่าคนโน้นคนนี้ ผมว่าเลิกเถอะครับ แกนนำควรไปบอกเขาให้เพลาๆได้แล้วว่ายุคนี้รัฐบาลนี้ไม่มีเหลืองไม่มีแดง ไม่มีสีอะไรทั้งนั้น เขาเลิกกันแล้ว อย่าตกยุคตกสมัยอย่าสร้างความขัดแย้งขึ้นมาในสถานการณ์นี้และก็อย่าไปให้ราคาค่างวดอะไร ยิ่งผลงานก็ยังไม่มี แล้วปล่อยให้สีโน้นสีนี้ออกมาเคลื่อนไหว รัฐบาลจะไปรอดหรือ เร่งสร้างผลงานที่เคยหาเสียงไว้ให้ออกมาไวๆเถอะครับ อย่ามัวแต่รำมวยหรือไหว้สวยกันอยู่อย่างนั้น ว่างๆไปไหว้พระขอพรที่วัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชันบ้าง ผลงานจะได้เปรี้ยงปร้างสักที


วันเดียวกัน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ประเมินผลงานรัฐบาล 6 เดือน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวน 1,289 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28 ก.พ. ถึง 2 มี.ค.67


เมื่อถามถึงรัฐมนตรีที่ประชาชนรับรู้และพอใจเรื่อง แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เมื่อตอบได้มากกว่า 1 ท่าน พบว่า 5 อันดับแรกรัฐมนตรีที่ประชาชนรับรู้และพอใจเรื่อง แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ได้แก่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร้อยละ 67.5 รองลงมา อันดับที่สอง ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 36.0 อันดับที่สาม ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 32.9 อันดับที่สี่ ได้แก่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร้อยละ 26.0 และอันดับที่ห้า ได้แก่ นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 21.8 ตามลำดับ


เมื่อถามถึง รัฐมนตรีที่ประชาชนรับรู้และพอใจเรื่อง แก้ไขปัญหายาเสพติดและจัดระเบียบสังคม พบว่า 5 อันดับแรก รัฐมนตรีที่ประชาชนรับรู้และพอใจเรื่อง แก้ไขปัญหายาเสพติดและจัดระเบียบสังคม ได้แก่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร้อยละ 60.9 อันดับที่สอง ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 33.9 อันดับที่สาม ได้แก่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ยุติธรรม ร้อยละ 29.4 อันดับที่สี่ ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 29.1 และอันดับที่ห้า ได้แก่ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 27.3 ตามลำดับ


นอกจากนี้ ผลสำรวจของซูเปอร์โพล พบด้วยว่า 5 อันดับแรก รัฐมนตรีที่ประชาชนรับรู้และพอใจเรื่อง แก้ไขปัญหา ปากท้อง อาชีพการงาน และที่ดินทำกิน ได้แก่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร้อยละ 65.4 อันดับที่สองได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 30.8 อันดับที่สามได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 30.5 อันดับที่สี่ ได้แก่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร้อยละ 26.3 และอันดับที่ห้า ได้แก่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร้อยละ 24.6 ตามลำดับ


เมื่อสอบถามถึง ระยะเวลาการให้โอกาส รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทำงานบริหารประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.1 ระบุอยู่ครบวาระ รองลงมาคือร้อยละ 10.4 ระบุ 3 ปี ร้อยละ 5.0 ระบุ 2 ปี และร้อยละ 6.5 ระบุไม่เกิน 1 ปี ตามลำดับ


รายงานผลสำรวจครั้งนี้ของซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้โอกาสรัฐบาล นายเศรษฐา ทำงานบริหารประเทศต่อจนอยู่ครบเทอมในการประเมินผลงานรัฐบาล 6 เดือนแรก และพบว่า นายเศรษฐา ติดอันดับหนึ่งในทุกโผของการประเมินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เช่น การแก้ไขปัญหายาเสพติด การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การแก้ไขปัญหาปากท้อง อาชีพการงานและที่ดินทำกิน โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายภูมิธรรม เวชยชัย ติด 1 ใน 5 ของทุกการประเมิน ในขณะที่ อันดับของรัฐมนตรีท่านอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละหน้างานของการประเมิน เช่น พ.ต.อ.ทวี ที่ติดอันดับในการแก้ปัญหายาเสพติด และนายวราวุธ ที่ติดอันดับในเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนยังไม่รู้จักรัฐมนตรีคนอื่นๆ อีกหลายคนที่จำเป็นต้องมีการรณรงค์เสริมสร้างการรับรู้ของประชาชนต่อผลงานของรัฐมนตรีแต่ละท่านในช่วงเวลาที่ประชาชนยังให้โอกาสรัฐบาลทำงานบริหารประเทศต่อไป