วันที่ 2 มี.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำ รวมไปถึงแผนพัฒนาและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ โดยมี นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นายไพฑูรย์ ศรีมุก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามการลงพื้นที่ดังกล่าว

โดยในจุดแรก นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปยังเขื่อนร้อยเอ็ด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง อ.เชียงกลาง จ.ร้อยเอ็ด เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในลำน้ำชีตอนกลาง ปัจจุบันบริเวณเหนือเขื่อนร้อยเอ็ดมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ดี ประมาณ 19.36 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศในแต่ละช่วงฤดูกาลไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลต่อการเก็บกักน้ำต้นทุนในลำน้ำชี กรมชลประทาน จึงได้เสนอแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย 4 แผน ได้แก่ โครงการสถานีสูบน้ำฝั่งซ้าย พร้อมระบบส่งน้ำ เขื่อนร้อยเอ็ด สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ อ.โพธิ์ชัย ได้กว่า 32,000 ไร่, โครงการพนังกั้นน้ำชีฝั่งซ้าย กม.0+000–18+000 พร้อมอาคารประกอบ ช่วยป้องกันการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ อ.จังหาร และ อ.โพธิ์ชัย ได้ประมาณ 15,000 ไร่, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ด้วยการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 4 แห่ง เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ อ.จังหาร และ อ.เชียงขวัญ ได้ประมาณ 180,000 ไร่ โดยในปี 2567 จะเริ่มแห่งแรกที่ประตูระบายน้ำกุดเฆ่ และในปี 2568-2569 จะดำเนินการก่อสร้าง ปตร.ห้วยน้ำเค็ม ปตร.ปากบุ่ง และ ปตร.ห้วยซันเหนือ ตามลำดับ และโครงการสุดท้ายที่ขอสนับสนุนงบกลางปี 2567 คือการขุดลอกแก้มลิงหนองหิน อ.โพธิ์ชัย เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น

หลังจากนั้น ได้เดินทางไปติดตามการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง บริเวณสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากุดแคน ต.เจ้าท่า อ.กมาลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากแหล่งน้ำกุดกว้างน้อย กุดกว้างใหญ่ และกุดแคน อยู่ในสภาพตื้นเขินประกอบกับมีวัชพืชปกคลุม ส่งผลให้ช่วงฤดูแล้งมีปริมาณน้ำน้อย มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ ส่วนในช่วงฤดูน้ำหลากไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร กรมชลประทาน ได้วางแผนดำเนินโครงการแก้มลิงกุดกว้างน้อย โครงการแก้มลิงกุดกว้างใหญ่ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 2,000 ไร่ และกำจัดวัชพืชห้วยกุดแคน พื้นที่ประมาณ 160 ไร่ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาทั้งด้านการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย ซึ่งจะส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้เพิ่มและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ต่อมาในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปยังบริเวณพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง ซึ่งเป็นลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำชี เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้กับราษฎรในพื้นที่ 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงแบบก่อสร้าง โดยการปรับลดระดับเก็บกักลง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเขตป่าสงวน และจะเริ่มกระบวนการจัดหาที่ดินและจ่ายค่าชดเชยที่ดิน ในปี 2568 และเร่งของบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 ต่อไป ทั้งนี้ หากก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญของชาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 9.29 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานกว่า 5,700 ไร่ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก