วันที่ 2 มี.ค.67 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติครองราชย์ 60 ปี โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 29 จังหวัดศรีสะเกษ นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีถวายเครื่องราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น ”พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย“ ประจำปี 2567 ทั้งนี้เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ รวมทั้งเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยมี นายนพ พงศ์ผลาดิสัย นายชัยยงค์ เมธาสุรวิทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดศรีสะเกษ ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ อัยการจังหวัดศรีสะเกษ ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ ตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ข้าราชการทหาร เหล่ากาชาดจังหวัดศรีสะเกษ หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมพิธี

นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การถวายพระราชสมัญญานามแด่รัชกาลที่ 9 สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2513  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ครั้งที่ 1 โดยกรมแรงงานสังกัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเป็นเจ้าภาพ การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น แสดงให้เห็นถึงพระราชหฤทัยในการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการช่างไทย โดยในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มี พระราชดำรัส ตอนหนึ่งว่า " ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคนเพราะตลอดชีวิตของคนเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการสิ่งต่าง ๆ ที่ได้มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุก ๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน วิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้ายิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษเพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ ฯลฯ   

หลังจากที่ทรงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้วยังได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจต่าง ๆ มากมายจนมีผลงานฝีมือและงานประดิษฐ์เป็นที่รู้จักหลายชิ้น รวมถึงได้รับการยอมรับและขนานนามไปทั่วโลก เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา และฝนหลวง ซึ่งถือเป็นผลงานที่ทำขึ้นเพื่อพสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง โดยมิได้ทรงคำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย เพราะทรงตระหนักว่าประโยชน์สุขของประชาชนต้องมีความสำคัญก่อนเสมอ พระองค์จึงทรงเป็นแบบอย่างต่อช่างฝีมือแรงงานไทย ที่มุ่งพัฒนางานของตนเพื่อยังประโยชน์แก่ส่วนรวม