บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

ธนาคารขยะกำเนิดมาจากกองทุนขยะรีไซเคิล เกิดมานานแล้วตั้งแต่ราวปี 2558 ในยุคที่มีแนวคิดในการจัดการเรื่องขยะรวมเป็นโซนนิ่ง (Cluster) ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)หลายๆ แห่งเริ่มตื่นตัวและดำเนินการเพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน แนวคิดการคัดแยกขยะเป็นการกำจัดขยะจากต้นทาง ลดปริมาณขยะที่แหล่งกำเนิด ดูประกาศกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2560 ข้อ 5 ซึ่งกำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นต้องรณรงค์สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึก ให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการลดปริมาณ และคัดแยก มูลฝอย เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ มีความตระหนักรู้ และรับผิดชอบในการจัดการมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดมูลฝอย การใช้แนวคิดในการจัดตั้งกองทุนขยะรีไซเคิลขึ้น เพื่อให้ชุมชนได้มีรายได้ โดยการขายขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ที่เกิดจากการคัดแยกนั้น ก่อให้เกิดรายได้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะ อปท.ที่สามารถจัดตั้งกองทุนขยะรีไซเคิลได้และมีสมาชิก เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการคัดแยกขยะชุมชนวัดช่องลมเมืองพัทยา จัดตั้งเมื่อปี 2563 เพื่อไม่ให้ขยะไหลลงสู่ทะเลและนำขยะมาแปลงเป็นเงิน ซึ่งประสบผลสำเร็จมากชุมชนหนึ่ง

ฉะนั้น แนวคิดเรื่องกองทุนขยะรีไซเคิลจึงมีมานานแล้ว ครั้นมาถึงปี 2567 นี้ มท.มีการมอบนโยบาย ให้ทุก อปท.ต้องจัดตั้ง “ธนาคารขยะ” (Recyclable Waste Bank) ขึ้นอย่างน้อย 1 แห่ง ซึ่งก็คือการคัดแยกขยะ โดยการจัดตั้งกองทุนขยะขึ้นนั่นเอง แต่เรียกชื่อใหม่ว่า “โครงการธนาคารขยะ” แม้ว่าจะมีการนำหลักการที่เกิดจากการศึกษาวิจัยได้นวัตกรรมใหม่มาเป็นแนวทางแล้วก็ตาม แต่สำหรับ อปท.ที่มีการดำเนินการมาก่อนแล้ว และสามารถดำรงกองทุนขยะรีไซเคิลนี้มาตลอดจะรู้สึกว่า การดำเนินการจัดตั้งโครงการธนาคารขยะใหม่นั้นมิใช่เรื่องยาก เพราะ อปท. ได้จัดทำมาเป็นผลดีแล้ว ทางราชการมีนโยบายในการมุ่งหวังสร้างธุรกิจรายได้ให้แก่ชาวบ้าน โดยใช้ขยะเป็นเป้าหมายได้ทั้งการลดปริมาณขยะและในขณะเดียวกันลดโลกร้อนไปในคราวเดียวกัน

แนวคิดเกี่ยวกับ “ธุรกิจเพื่อคุณภาพชีวิต” หรือ “ธุรกิจเพื่อชีวิต(ที่ดี)” หรือ “Business For Life” (BFL) เป็นแนวคิด เกี่ยวกับการจัดการ ทำกิจการเพื่อสังคม แม้มีลักษณะเป็นธุรกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ก็เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วยความยั่งยืน (Sustainable) ทางการเงินจากสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งธุรกิจนั้น เรียกว่า “กิจการเพื่อสังคม” หรือ “Social Enterprise” (SE) โดยมีคุณสมบัติ ลักษณะสำคัญของกิจการเพื่อสังคมดังนี้ มีเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดวัตถุประสงค์ ในการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น มีรูปแบบการดำเนินการที่มีความยั่งยืน ทางการเงิน เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม คือมีรายได้จากการขายการผลิตสินค้าหรือการให้บริการเป็นสำคัญ มีกระบวนการผลิตและการดำเนินการกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว มีผลกำไรกลับคืนสู่สังคมและเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือมีผลกำไรจากการดำเนินกิจการเพื่อนำไปแก้ไขและพัฒนาสังคมและชุมชนและดำเนินการอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะในยุคที่คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจปัญหาของสังคมและสิ่งแวดล้อม กิจการอาจสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมได้ในหลากหลายมิติ

ธุรกิจเพื่อคุณภาพชีวิต (Business For Life : BFL) คืออะไร

3 รูปแบบธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจของการให้บริการ (Service firm) 2.ธุรกิจซื้อขายสินค้า (Merchandising firm) 3.ธุรกิจอุตสาหกรรม (Manufacturing firm) “ธุรกิจเพื่อชีวิต” (BFL) ก็เช่นกัน เพียงแต่ธุรกิจเพื่อชีวิตอาจไม่หวังผลเลิศในเรื่องกำไร (profit) และเป็นอาชีพที่มีรายได้ (income) อาจเป็นเพียงอาชีพเสริมหรือกิจกรรมเพื่อสังคมเท่านั้น ย้อนไปราว 3-4ปีมีแนวคิดที่ดีมากในสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) คือ ธุรกิจเพื่อชีวิต (BFL) ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจเพื่อให้ประชาชนชุมชนมามีส่วนร่วมในการจัดการตนเอง เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น คือ ผลตอบแทนที่ได้ ก็เพื่อประชาชนและชุมชน มาจาก CSR (Corporate Social Responsibility) เป็น “กิจกรรมเพื่อสังคม” การจัดการบรรษัทภิบาล โดยใช้ระบบบริหารจัดการที่ดี เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน รักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวคือภายใต้แนวคิดในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นธุรกิจสะพานบุญ แห่งการแบ่งปัน เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เป็นระบบแบ่งปันนิยม สร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้แก่ชุมชน “การให้จึงได้รับ ยิ่งให้ยิ่งได้” ด้วยการให้ เช่น “เป็นกองทุนบุญ” เพื่อผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง รับบริจาคของเก่า ขยะรีไซเคิล รวบรวมแล้วนำไปจำหน่าย หรือ “ผ้าป่าขยะ” เพื่อเอาเงินไปทำสวัสดิการชุมชน

มีข้อสังเกตว่า ร่างระเบียบธนาคารขยะ และระเบียบว่าด้วยกองทุนขยะรีไซเคิล (ที่ อปท.ทำมาแต่เดิม) นั้น มีหลักการเหมือนกัน ซึ่งท้องถิ่นเห็นว่าเป็นอันเดียวกัน ฉะนั้น “โครงการคัดแยกขยะรีไซเคิลธนาคารขยะ” หรือ “โครงการธนาคารขยะ” จึงเป็น “ธุรกิจเพื่อชีวิต” หากว่าตั้งเป้าว่าเป็นธุรกิจที่สามารถเป็นกองทุน (fund) แก่ประชาชน เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนและนำรายได้ไปเสริมจัดสวัสดิการแก่ชาวบ้าน ซึ่งสามารถแสวงหาผลกำไรในรูปเงินได้ แต่ตามหลักการแล้ว “ธุรกิจเพื่อชีวิต” ของชาวบ้านไม่อาจแสวงกำไรได้เลยมองเห็นๆ ว่าชาวบ้านขาดทุนแน่ๆ แต่รัฐอาจได้ประโยชน์ในโครงการนี้อย่างอื่น สำหรับประชาชนแล้วยากที่จะร่ำรวยจากกิจกรรมนี้ได้ หากมิใช่ธุรกิจบริษัทยักษ์ใหญ่เช่นบริษัทวงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (จ.พิษณุโลก) เพราะ “สุขภาพที่ดีของสังคม” (society health) นั้น น่าจะมิใช่มาจากกิจกรรมคัดแยกขยะหรือธนาคารขยะ การทำโครงการสุขภาพ (a health program) และ โครงการเงินกองทุน (fund) เพื่อหากำไร จึงไปด้วยกันได้ยาก

ปกติเมื่อพูดถึงคำว่าธุรกิจแล้วส่วนใหญ่มักนึกถึงเรื่อง เงินทองหรือการทำกำไรเป็นสำคัญ ทำให้คนส่วนใหญ่มีทัศนคติไม่ค่อยดีต่อการทำธุรกิจว่า เป็นเรื่องของคนที่เห็นแก่เงินแก่ได้ เป็นเรื่องของการเอาเปรียบ ความโลภ ความไม่รู้จักพอ เงินไม่ใช่ทำให้มีความสุขได้ แต่ในโลกยุคดิจิทัลความคิดหรือแนวคิดเชิงลบเริ่มเปลี่ยนไปเป็นทัศนคติแบบบวก เพราะเดิมนั้นธุรกิจมุ่งทำกำไรสูงสุด แต่ในปัจจุบันการทำธุรกิจนอกจากจะทำกำไรแล้วจะต้องนำกำไรบางส่วนมาตอบแทนเพื่อสังคมด้วย เพราะความจริงหากสังคมไม่สามารถอยู่รอด ธุรกิจก็ไม่สามารถอยู่รอดได้เช่นกัน จึงเกิดธุรกิจเพื่อสังคมขึ้น ซึ่งนำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาทางด้านความมั่นคงแบบสมดุล (Comprehensive Security) กล่าวคือ การใช้มิติทางเศรษฐกิจมาเกื้อกูลต่อมิติทางด้านความมั่นคงนั่นเอง เพราะธุรกิจเพื่อสังคมนั้น มีหน่วยงานที่ดำเนินการ โดยค่ายุทธศาสตร์แบบกลไกตลาด เพื่อเป้าหมายทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานของธุรกิจเพื่อสังคมมุ่งเน้นเป้าหมายทางสังคม สิ่งแวดล้อมและการเงินไปพร้อมๆ กัน หรือที่เรียกว่า “Triple Bottom Line” กล่าวคือ ผลประโยชน์เพื่อสังคม แทนที่จะเพื่อบริษัทหรือผู้ถือหุ้น โดยนัยยะจะมีความคล้ายคลึงกับเอ็นจีโอมูลนิธิองค์กรการกุศลต่างๆ เพียงแต่วิธีการหากำไรและการวางระบบการตลาดนั้นทำเหมือนบริษัท เป็นการหยิบยกข้อดีของงานภาคธุรกิจ และภาคสังคมมาผสมผสานกัน เพราะชาวบ้านและชุมชนจะเป็นเจ้าของทรัพยากรนั้นๆ การจัดทำธุรกิจเพื่อสังคมนั้น อาจจะมีหลายรูปแบบต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ แต่เป้าหมายของขยะที่ถือว่าเป็นวัตถุที่มีคุณค่าและมีราคาในสมัยนี้นั้น เป็นเป้าหมายที่สำคัญที่ทุกคนต้องให้ความสนใจ เพราะขยะนั้นต้องมีการกำจัดที่ถูกวิธี กำจัดขยะให้ได้มากที่สุด เหลือขยะตกค้างให้น้อยที่สุด ด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นมากขึ้น ในทุกๆ ปี การกำจัดขยะจึงเป็นเรื่องที่ลำบาก ต้องมีกลยุทธ์และมีแผนจัดการที่แยบยล

การบริหารจัดการกำจัดขยะที่ผ่านมา

ในรอบ 8-9 ปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาขยะถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ อปท.ต้องเข้ามาดำเนินการจัดการตามกฎหมาย ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม โครงการธนาคารขยะชุมชนนี้ แรกเริ่มมาจากการคัดแยกขยะของชุมชน โดยคัดแยกขยะที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ หรือนำมาขายเป็นรายได้แก่ชาวบ้านและชุมชน และหากขยะมีปริมาณมาก มีการคัดแยกได้ในแต่ละวันหรือในแต่ละครั้งเป็นจำนวนมากก็จะสร้างมูลค่าราคาได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน นอกจากนี้ เอกชนบริษัทต่างก็มีการจัดการ “คัดแยกขยะชุมชน” ที่เป็นการลดขยะจากต้นทาง เพื่อสร้างมูลค่าของขยะเหล่านี้ให้มีราคา รัฐพยายามประกาศให้ การขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนของ อปท. ตามนโยบายการจัดการขยะและดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันอยู่ในช่วงของแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565-2570) โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความร่วมมือของ อปท. 7,773 แห่ง ไม่รวม อบจ.และ กทม. ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560

สำหรับ โครงการ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ซึ่งปัจจุบันถึงรอบที่ อปท.จะต้องมีการทวนสอบ ในรอบที่ 3 ตามหนังสือเรื่อง การจัดเตรียมเอกสารสำหรับการเตรียมการรับการทวนสอบรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนของ อปท. ประเทศไทย รอบที่ 3 (76 จังหวัด) ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0820.4/ว 704 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 แยกตัวอย่างกิจกรรมโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่ อปท.จัดทำ เช่น 1. จัดทำคำสั่งคณะทำงานบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับท้องถิ่น (ทำต่อจากของเดิม) 2. จัดทำแผนบริหารจัดการขยะฯ 3. อบรมชุดปฏิบัติการหมู่บ้าน ตั้งงบในข้อบัญญัติ 4. ตั้งชุดปฏิบัติการตำบลขยายผลในหมู่บ้านชุมชน 5. ตั้งชุดปฏิบัติการหมู่บ้านเพื่อรายงานผล 6. อปท. รายงานข้อมูลในระบบขยะเปียกลดโลกร้อน 7. ตั้งคณะทำงานบริหารจัดการขยะฯ เพื่อลงพื้นที่ทวนสอบ ตามแผนทวนสอบ (Re x-ray) 8. จัดทำสรุปวิเคราะห์ปัญหาเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขทั้งหมด

นโยบายขยะที่หวังผลเลิศ 100% ใช้ได้จริงหรือ

นโยบายกระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล อปท. ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560 จึงถูกต้องแล้ว สำหรับแนวทางการคิดงานต่างๆ ที่แจ้งถือเป็นแนวทาง (guideline) ให้ อปท.ปฏิบัติก็ใช้ได้ ข้อขัดข้องมีเพียงว่า สถ.เร่งเอาผลงาน 100 % เช่น โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่ส่งเป็นโครงการระดับชาติ เป็นความตั้งใจที่ดี แต่เนื่องจากการปฏิบัติงานต้องแก้ไขพัฒนาควบคู่กันไป ซึ่งเป็นความยุ่งยากในทางปฏิบัติบ้าง อปท.หลายแห่งต่างใช้เทคนิค ในการบริหารจัดการเต็มที่ เช่น รอบปีที่แล้ว อปท.บางแห่งอาจรายงานไปครั้งแรกเพียง 60% ครัวเรือน ฝังถังขยะเปียกเฉลี่ย 2-3 บ้าน/ถัง บ้านที่ไม่มีบริเวณก็ตัดฐานใช้ถัง EM ทดลองนำร่องใช้เครื่องย่อยขนาดเล็กเศษอาหารเป็นปุ๋ยใน 24 ชม. ที่ตั้งไว้ตามจุดในวัด, ศพด., หรือในสำนักงาน อปท.ที่ได้ผลดีในระดับหนึ่ง เพราะการจัดการขยะต้นทาง หรือการลดปริมาณขยะที่แหล่งกำเนิดต้องใช้หลายๆ วิธี แต่การเร่งเอาผลงาน 100% ในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งจึงดูประหลาด

สถ.ให้ จนท.อำเภอเร่งจะเอา 100% ทวนสอบ แข่งกันว่าอำเภอใดไม่อยู่อันดับท้าย คนที่เกิดขึ้นก็คือ อปท. ต้อง มาปรับแต่งเมกข้อมูล เช่น ปรับ 5-10 บ้าน/ถัง เพื่อให้ได้ตัวเลขเป็นว่า “งานสำเร็จได้ด้วยปลายนิ้ว” ดูๆ แล้ว ออกจะค้านสายตาในทางปฏิบัติ เพราะว่า อปท.บางแห่ง แม้ติดขัดด้วยอัตรากำลัง แต่ก็ทำผลงานเชิงประจักษ์ได้ แม้ด้วยความลำบาก แต่ถ้ามีกำลังงานนี้เจ้าหน้าที่ต้องทำต่อเนื่องไปจึงจะค่อยเห็นผล หากต้องการเพียงตัวเลขข้อมูล จึงเหมือนกับว่า ผลงานที่ได้ออกมานั้น ฝ่ายผู้กำกับดูแล จะได้เป้าหมาย ที่สวนทางกับความเป็นจริง แม้ว่าท้องถิ่นก็อยากทำงานให้ได้ผลงานตามจริง แต่ สถ.ต้องการเป้าหมายของตัวเอง ไม่ให้เวลา อปท. และไม่ดูบริบทความพร้อม อปท.แต่ละแห่งที่ต่างกัน แล้วส่งผลงานข้อมูลนี้ส่งไประดับนานาชาติ ไม่คิดเลยเหรอว่ามันจะสวนทางหรือลวงโลกกัน เพราะ อปท.รายงานตามจริง 60% ต้องมาปรับตัวเลขภายใน 1-2 เดือนต้องให้ได้ 100% ก็เป็นเหตุผลว่าประเทศที่พัฒนาเขาจะส่งเสริมการกระจายอำนาจท้องถิ่นกันอย่างไร ตามบริบทของท้องถิ่นที่เมื่อทำเองแล้วจะตรงกับปัญหาแก้ปัญหาได้ แถมยังไม่เสียงบพิธีการ งบสร้างภาพ (event/promote) หรือทำไปโดยไม่จำต้องหวังผลเลิศ เพียงแต่ได้ทำเพื่อประชาชนโดยแท้จริง แต่การหวังผลเลิศจาก สถ.หรือจากผู้กำกับดูแลจึงสวนทางกัน เพื่อเอาผลงานไป เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งต่างหาก เพราะว่าปัญหาเรื่องขยะนั้น เป็นนโยบายที่ดีที่ท้องถิ่นต้องทำมีหน้าที่ต้องขับเคลื่อนตามกฎหมายด้วยวิธีการตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยส่วนกลาง กระทรวง กรมเป็นฝ่ายส่งเสริมประสานวิชาการกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำงาน ให้มากที่สุด

แต่กลับกันบ้านเราไม่ใช่อย่างนั้น จะเป็นแบบคิดกลับว่า “ข้าคิดเอ็งไปทำให้ข้า” และต้องทำ ให้ได้ภายใน 60 วัน นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คน อปท.ท้อ ทำให้ท้องถิ่นไม่อยากทำ เพราะดูแนวทางไม่ได้จริงใจ ถ้าตั้งใจค่อยๆ สอนค่อยแนะนำ และเอาตัวอย่างที่สำเร็จ หรือแนวทางต่างๆ ให้ท้องถิ่นได้มาคิดมาปรับใช้ ด้วยท้องถิ่นเองน่า จะมีคนตั้งใจทำมากกว่า เห็นทีจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ เวลายังไม่สาย โครงการจังหวัดสะอาดก็คิกออฟรณรงค์คัดแยกขยะให้ขายเอง ทดลองรับบริจาคขยะ ของเก่า ขยะรีไซเคิล หรือ อปท.ไปรับขยะมารวมขายเอาเงินไปทำสวัสดิการ ช่วยคนยากไร้ ด้อยโอกาส คนป่วยติดเตียง ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง เช่น ซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และกายอุปกรณ์มอบให้คนไข้ติดเตียงหรือผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ ถือเป็นการทำบุญไปในตัว ไปจัดสวัสดิการชุมชนในต่างๆ อาทิ การช่วยเงินสงเคราะห์ค่าฌาปนกิจ การจัดทำประกันอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ และการมอบสิ่งของเครื่องใช้ให้กับสมาชิกในธนาคารขยะ ช่วยคนป่วย คนยากจน ซื้อของให้ผู้ป่วย เป็นต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจในการ คัดแยกขยะต่อไป

นี่ก็คือแนวคิดในการบริหารจัดการ “ธุรกิจเพื่อชีวิต” หลาย อปท.มีการทดลองทำมาหมดแล้ว ทั้งทำขยะแลกของ แลกไข่ (ราคาขยะเทียบราคาไข่) นอกจากนี้ชุมชนหมู่บ้านก็ยังมีรูปแบบต่างๆ “ผ้าป่าขยะ” (เช่น โครงการทอดผ้าป่าขยะทำดีถวายในหลวง ร.9, โครงการผ้าป่าขยะรีไซเคิลเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารขยะ) “ทำกองทุนบุญ” “กองทุนฌาปนกิจจากการคัดแยกขยะ” เพื่อระดมเงินทุนสักก้อนขึ้นมาเพื่อช่วยคนตกทุกข์ คิดสูตร กันหลากหลาย ถ้าไม่สำเร็จ ก็พักหาวิธีใหม่ต่อไป บางพื้นที่ที่ทำเพื่อสาธารณะสำเร็จพอได้บุญก็ยกให้ อปท.ทำต่อ

ธุรกิจเพื่อชีวิต Business For Life ตอนนี้ส่วนราชการอาสามาทำ แย่งธุรกิจในหน้าที่ของเอกชน แข่งขันกับเอกชน คือไปทำหน้าที่ที่ขาดทุน และมิใช่หน้าที่โดยตรง อ้างเพื่อบริการสังคม ชุมชน และประชาชน แบบแอบแฝง เช่น สนามกอล์ฟทหาร หน่วยบริการสาธารณสุขตั้งนวดแผนไทย ให้ชาวบ้านตั้งธนาคารขยะในกำกับของ อปท. ยังไม่รวมอย่างอื่นที่คล้ายกัน เช่น เข็นให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันตั้งธุรกิจชุมชนต่างๆ การตั้งกองทุนอาชีพต่างๆ เพื่อรายได้และอาชีพ ไม่ว่า OTOP ต่างๆ หมู่บ้านชุมชนนวัตวิถี ท่องเที่ยวชุมชน โฮมสเตย์ แต่แท้ที่จริงมีนายทุนอยู่เบื้องหลังกิจการ ความไม่เข้มแข็งของชุมชน ทำให้เกิด "การกินแรงของนายทุน", ชาวบ้านทำแล้วเจ๊ง, ขาดความต่อเนื่อง ฯลฯ ฉะนั้น จึงเกิดกลุ่มอาชีพ/โครงการร้างมากมาย เช่น กลุ่มกองทุนปุ๋ยอินทรีย์, กลุ่มอบแก้วมังกร (ผลไม้แห้ง), กลุ่มตัดเย็บ, กลุ่มทอผ้าไหมผ้าฝ้าย, กลุ่มปลูกผักอินทรีย์, กลุ่มเพาะเห็ด ฯลฯ วิธีการในการลดขยะ ควรเลือกวิธีที่เหมาะสมกับพื้นที่ของแต่ละ อปท.ไป หลักการคือไม่แสวงหากำไร เป็นการเจือจุนช่วยเหลือกัน

ลองมาดูข้อจำกัดของโครงการธุรกิจเพื่อชีวิดนี้

ในการจัดทำธุรกิจนั้นมีปรัชญาว่า ต้องมีกำไร และนำผลกำไรนั้นมาแบ่งปันกันใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต แต่ธุรกิจเพื่อชีวิตนั้น มิได้หวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง แต่หวังการช่วยเหลือเจือจุนค้ำจุนกันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง (Economic Efficiency) มากกว่า ฉะนั้น ต้องคิดถึงหลักการคุ้มทุนประกอบด้วย เพราะในการบริหารงานนั้นอาจจะล้มเหลว ไม่สามารถบริหารกิจการต่อไปได้ (กิจการเจ๊ง) ก็จะทำให้โครงการไม่ประสบผลสำเร็จ เป้าหมายที่คาดไว้ก็จะไม่บรรลุผล ในหลายๆ ประการเช่น จำนวนสมาชิกที่ลดน้อยลง ปริมาณขยะที่คัดแยกได้น้อยลง เหล่านี้ ย่อมส่งผลต่อการบริหารกิจการของกองทุนธนาคารขยะ อันจะไปกระทบต่อ เป้าหมายทางการจัดสวัสดิการสังคมแก่ชุมชนไม่ได้ เพราะไม่มีต้นทุน และหากมีการยุบกองทุน เช่น มีอยู่หลายกองทุน 2-3 กองทุน แล้วจะยุบรวมเป็นหนึ่งกองทุน เพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก็ได้ แต่ในทางกลับกันหากมีกองทุนเดียวแล้ว จำต้องมีการยุบเลิกกองทุน ก็หมายความว่า โครงการนี้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ และจะยุบกองทุน มาให้ อปท.ดำเนินการ ก็คงไม่ได้เช่นกัน เพราะชุมชนไม่เอาด้วย สรุปความว่าในการบริหารธุรกิจเพื่อชีวิตนั้น จะต้องมีการคำนึงถึง ภาวะความยั่งยืน (Sustainable) ของชุมชนด้วยตามแนวปรัชญานโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการ เพื่อให้หมู่บ้านมีความยั่งยืน นี่คือหัวใจหลักของการบริหารการธุรกิจเพื่อชีวิต ดังนั้นการหวังผลเลิศ จึงมีข้อจำกัดด้วย ประการนี้