ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ศักดินาคือความเหลื่อมล้ำกดขี่ ในด้านดีคือปกครองดูแลกัน แต่ที่ชั่วมหันต์คือทำร้ายผู้ด้อยกว่า

ครูไพลินเติบโตมาในชนบท ที่จังหวัดภาคเหนือ ชายแดนไทยลาว ความที่เป็นลูกผู้หญิงก็เกือบจะไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะธรรมเนียมของครอบครัวชนบทแถบนั้น จะใช้แรงงานผู้หญิงออกทำไร่ทำนา รวมทั้งที่ต้องดูแลบ้าน และหากแต่งงานมีครอบครัวก็ต้องดูแลสามีและลูกเต้า รวมถึงพ่อแม่และญาติของฝ่ายสามีนั้นด้วย ในขณะที่ผู้ชายจะมีสิทธิพิเศษเหนือกว่า ไม่เพียงแต่จะมีชีวิตที่สุขสบาย ไม่ต้องทำงานหนัก อย่างมากก็ออกป่าล่าสัตว์เอามาทำของกิน หรือตัดไม้ปลูกและซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งได้ไปเรียนหนังสือ ไปเที่ยวเตร่ ตลอดจนได้อาบน้ำก่อนและกินข้าวก่อนพวกผู้หญิงในบ้าน

พ่อแม่ของครูไพลินที่มีลูก 5 คน ทุกคนล้วนเป็นลูกผู้หญิง โดยครูไพลินเป็นลูกคนกลาง พี่สาวสองคนก็ช่วยแม่ทำงานและไม่ได้เรียนหนังสือ ครูไพลินเห็นเด็กผู้ชายในหมู่บ้านพากันไปเรียนหนังสือที่วัด รวมทั้งเด็กผู้หญิงบางบ้านก็ได้เรียนหนังสือ ก็ร้องไห้อ้อนวอนพ่อแม่ขอเรียนหนังสือ พ่อแม่ก็มีข้อแม้ว่าต้องเรียนให้ได้คะแนนดี ๆ ซึ่งเด็กหญิงไพลินก็ทำได้ โดยสอบได้ที่ 1 ตลอดมาจนจบประถม 4 ซึ่งโรงเรียนที่วัดมีสอนถึงระดับชั้นนั้น  ครูที่โรงเรียนเห็นความตั้งใจและความสามารถของไพลิน ก็ส่งเสริมให้ขอทุนไปเรียนที่อำเภอในเมือง แม้จะได้ทุนมาแต่ก็มีอุปสรรคว่าไม่มีที่พักในเมือง เพราะถ้าเป็นเด็กผู้ชายก็พอจะหาวัดไปอาศัยอยู่กับหลวงพี่หลวงพ่อในหลาย ๆ วัดที่ในเมืองนั้นได้ โดยพ่อแม่ของไพลินก็ไม่ยอมให้ไป ครูของไพลินได้เขียนจดหมายไปถึงผู้ดูแลสถานสงเคราะห์ชาวเขาที่ในเมือง ขอความช่วยเหลือเรื่องที่พัก ตอนแรกก็ติดขัดเพราะผิดวัตถุประสงค์ของสถานสงเคราะห์ เนื่องจากไพลินไม่ใช่ชาวเขา ที่สุดผู้บริหารมูลนิธิคนหนึ่งที่อุปถัมภ์สถานสงเคราะห์นั้นอยู่ทราบถึงปัญหา ก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ (ซึ่งกรณีของไพลินต่อมาก็ได้ช่วยเด็กหญิงในชนบทที่ไม่ใช่ชาวเขาอีกเป็นจำนวนมากให้ได้มาพักและเรียนในเมืองนั้นด้วย) ซึ่งไพลินก็จดจำชื่อของครูและผู้บริหารมูลนิธิที่ช่วยเหลือเธอมาตลอดชีวิต

การได้มาพักอยู่ในสถานสงเคราะห์ทำให้ไพลินได้เรียนรู้ถึงคนที่มีความทุกข์และปัญหามากกว่าเธออีกหลายคน ซึ่งก็คือชาวเขาที่มาอยู่ในสถานสงเคราะห์นั่นเอง คนเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนไทย แม้ว่าบางคนจะมีครอบครัวที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทยนับเป็นร้อย ๆ ปี หรือที่เรียกว่าชาวเขาดั้งเดิม แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพิ่งอพยพเข้ามาในช่วงสงครามกอบกู้เอกราชของลาวในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ที่มีมากที่สุดก็คือพวกผู้อพยพชาวลาวที่หนีภัยคอมมิวนิสต์เข้ามาในช่วงที่ประเทศลาวมีการแบ่งแยกเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 เป็นต้นมา จนกระทั่งพวกฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์ยึดประเทศลาวได้ใน พ.ศ. 2518 โดยในช่วงที่ไพลินเข้ามาเรียนในเมืองจะเป็นช่วง พ.ศ. 2510 - 2518 ก็อยู่ในช่วงเวลานั้นพอดี

ผู้อพยพชาวลาวที่หลบหนีภัยคอมมิวนิสต์เข้ามายังไทย ที่เข้ามามากที่สุดก็คือชาวเขาเผ่าม้ง (หรือที่คนไทยชอบเรียกว่าแม้ว) เพราะผู้นำฝ่ายขวาของลาวคนหนึ่งชื่อร้อยเอกกองแลมีเชื้อสายเป็นม้ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาให้ทำการต่อสู้กับพวกฝ่ายซ้าย แต่ร้อยเอกกองแลแพ้ แล้วลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2504 พวกม้งที่อยู่ในลาวใกล้ชายแดนไทยก็หลบหนีเข้ามาที่ไทยเป็นจำนวนมาก พอดีกับที่รัฐบาลไทยในช่วงนั้นก็เป็นรัฐบาลทหาร และได้รับความช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศจากสหรัฐอเมริกา จึงต้องดำเนินนโยบายต่าง ๆ ตามแต่สหรัฐอเมริกาจะกำหนด ก็จำใจต้องยอมรับชาวม้งและผู้อพยพเหล่านั้นเข้ามาพักไว้ตามชายแดน ซึ่งในระยะแรกก็ไม่มีปัญหาในการเลี้ยงดูอะไรมาก เพราะสหรัฐอเมริกายังให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ด้วยดี แต่ครั้นตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2512 สหรัฐอเมริกาได้ทุ่มเทกำลังพลและทรัพยากรต่าง ๆ ไปรบในเวียตนาม ที่กำลังเป็นสงครามใหญ่ การดูแลค่ายผู้อพยพจึงเกิดปัญหา รัฐบาลไทยจึงต้องปล่อยให้พวกม้งไปอยู่ตามภูเขาต่าง ๆ และทำมาหากินไปตามกำลัง ส่วนที่ไม่ยอมขึ้นเขาหรือผู้อพยพทั่วไป ก็ขอลี้ภัยไปอยู่ตามประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา (ฝรั่งเศสเคยปกครองลาวในฐานะเมืองขึ้นอยู่เกือบร้อยปี คนลาวจำนวนมากจึงพูดภาษาฝรั่งเศสได้) ที่เหลือก็กลับไปอยู่ที่ประเทศลาวที่เป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้วนั้น เพราะการอยู่ในฐานะผู้อพยพยังมีสภาพที่ย่ำแย่กว่าการถูกปกครองโดยคอมมิวนิสต์ เพราะยังได้รับการยอมรับว่าเป็นเจ้าของประเทศ ในขณะที่มาอยู่ในไทยไร้ซึ่งศักดิ์ศรีและสิทธิต่าง ๆ แบบเจ้าของประเทศนั้น

พวกม้งที่อยู่ตามภูเขานั้นถือว่าเป็นผู้ไร้สัญชาติแต่ไหนแต่ไรมา ดังนั้นจึงเป็นที่รังเกียจของคนไทยในจังหวัดที่พวกม้งมาอาศัยอยู่นั้นด้วย ทั้งพวกแม้วเดิมที่อยู่มาก่อนเป็นร้อย ๆ ปี กับพวก “ม้งอพยพ” ที่หนีภัยสงครามมาในช่วงหลัง ยิ่งมีคนใจบุญคือมูลนิธิแห่งหนึ่งมาตั้งสถานสงเคราะห์ขึ้นในจังหวัด คนในพื้นที่ก็มองมูลนิธินั้นในแง่ร้ายไปด้วยว่าน่าจะมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ดี ตั้งแต่ที่หาว่าสถานสงเคราะห์คือสำนักงานหาคนไปเข้ารีตเป็นคริสเตียน เพราะมูลนิธิเป็นของนายทุนชาวคริสต์ จนถึงที่หาว่าเป็นสถานที่หาคนไปค้าขายแรงงานในต่างประเทศ เพราะมีการส่งคนที่เรียนจบจากสถานสงเคราะห์ให้ไปอยู่ยังต่างประเทศนั้นด้วย ไพลินก็ไม่พ้นจากการดูหมิ่นเหยียดหยาม แม้จะไม่ใช่ชาวเขาหรือผู้อพยพ แต่กระนั้นเมื่อหลาย ๆ คนรู้ว่าไพลินเป็นแค่ผู้ยากไร้จากอำเภอชายแดน และไม่ได้เรียนหรือรับทุนจากสถานสงเคราะห์ แต่เรียนในโรงเรียนประจำอำเภอในเมืองและรับทุนของทางอำเภอ คำนินทาว่าร้ายก็น้อยลง แต่กระนั้นไพลินก็พยายามหาทางที่จะขยับขยายไปอยู่ข้างนอกเสมอมา

สถานสงเคราะห์ที่ไพลินเข้าไปอยู่ นอกจากจะเป็นโรงเรียนที่เปิดการสอนในวิชาสามัญตามปกติแล้ว ยังเป็นโรงเรียนฝึกอาชีพให้กับนักเรียนและผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย เธอเลือกเรียนเย็บจักร แต่ก็ต้องรอจนถึงอายุ 13 ปีที่กำลังขึ้นชั้นมัธยมปีที่ 1  เพื่อให้เป็นผู้ใหญ่และโตพอที่เท้าจะถีบจักรถึง เพียงสองสามเดือนก็สามารถรับจ้างตัดเย็บงานง่าย ๆ ต่าง ๆ เช่น ถุงใส่ของ และย่าม ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเก็บเล็ก ๆ น้อย ๆ พอครบปีก็เริ่มชั้นตัดเย็บเสื้อผ้า ทีนี้ก็สามารถรับงานข้างนอก ที่มีผู้มาว่าจ้างและรับชิ้นงานไปขายต่อ ทำให้พอมีรายได้ส่งไปให้ทางบ้าน เดือนละ 100 บาทบ้าง 200 บ้าง พอไพลินเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 ก็พอดีมีเจ้าของโรงงานที่ทำผ้าย้อมคราม ที่เรียกว่า “ม่อฮ่อม” มาหาแรงงานตัดเย็บ ไพลินก็ขอไปทำเพราะทราบว่ามีที่พักให้เสร็จศัพท์ และสามารถตกลงกับเจ้าของโรงงานขอเรียนไปด้วยและทำงานตัดเย็บไปด้วยได้ จึงเป็นโชคดีของไพลินที่ได้ทั้งโอกาสเรียนต่อ ได้ออกไปอยู่นอกสถานสงเคราะห์ และทำงานมีทุนเพื่อเรียนต่อนั้นด้วย

พ่อแม่พอรู้เข้าก็บอกว่าเรียนพอแล้ว ทำงานหาเงินเพียงอย่างเดียวดีกว่า แต่พี่สาวกับน้องสาวทั้งสี่ขอให้เรียนต่อให้ได้ โดยเฉพาะน้องสาวทั้งสองที่ได้รับอานิสงฆ์จากเธอได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่วัดในหมู่บ้านเหมือนกันกับเธอ ก็แอบเชียร์อย่างหนัก ส่วนพี่สาวทั้งสองก็ได้รับเสื้อผ้าสวย ๆ งามที่เธอตัดและซื้อส่งไปให้ ก็เข้าข้างเธออย่างออกหน้าออกตา ที่สุดพ่อกับแม่ก็ใจอ่อนเมื่อเธอบอกว่าเธอจะเรียนให้สูงขึ้นอีกหน่อย เพื่อจะได้ทำงานมีเงินเดือนสูง ๆ และมีเงินไปปลูกบ้านกับซื้อที่ไร่ที่นาให้พ่อกับแม่เพิ่มอีก โดยหารู้ไม่ว่าเธอมีแผนในชีวิตที่ไกลไปกว่านั้นอีก คือเมื่อจบมัธยมปลายแล้วก็จะไปเรียนมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่จนจบปริญญาตรี

ชีวิตของเธอไปไกลกว่าที่เธอคิดไว้มาก เพียงเพราะความฝันเดียวที่อยากรู้ว่า คนที่ “เหนือกว่า” เธอเขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ?