วันที่ 1 มี.ค.2567 เวลา 11.00 น.นายยุทธพร อิสระชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงผลงานของรัฐบาล ว่าการขับเคลื่อนผลงานของรัฐบาลเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับรัฐบาล เพราะเป็นความคาดหวังของประชาชน และการจัดตั้งรัฐบาลที่ใช้ระยะเวลายาวนาน 3-4 เดือน ประชาชนจึงคาดหวังสูง โดยเฉพาะในเชิงนโยบาย แต่วันนี้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการบริหารงาน เพราะรัฐบาลวันนี้ไม่เหมือนกับรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ในอดีตที่มีเสียงค่อนข้างเด็ดขาด รวมทั้งไม่ได้มีเสียงอันดับหนึ่งทำให้มีข้อจำกัดในการตัดสินใจ เพราะเป็นรัฐบาลผสม การตัดสินใจจึงใช้ลักษณะของการประนีประนอม อีกทั้ง กระบวนการตรวจสอบในรัฐธรรมนูญที่เข้มข้น ทำให้มีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระเช่นนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีการตรวจสอบตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำนโยบายด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการทำงานของรัฐบาล
นายยุทธพร กล่าวว่า ขณะเดียวกันการมีอยู่ของพรรคก้าวไกลซึ่งมีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน ดึงคะแนนความนิยมกันไปมา.จึงเป็นจุดสำคัญที่รัฐบาลจะต้องผ่าทางตันทางการเมืองตรงนี้ให้ได้ ในการที่จะขับเคลื่อนนโยบาย ไม่เช่นนั้นจะมีคำถามจากประชาชนและสังคม ที่มองเรื่องประสิทธิผลในทางนโยบายทั้งที่แถลงต่อรัฐสภาและที่หาเสียงเลือกตั้งเอาไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล รวมถึงในอนาคตจะมีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติจากสว.ด้วย โดยสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อการเมืองนอกสภา และ ในอนาคตหากฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะเป็นโจทก์สำคัญของรัฐบาล ที่จะต้องตอบให้ชัดเจนในนโยบายต่างๆ รวมถึงการเข้ามาตอบกระทู้ในสภา ที่จะต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน
เมื่อถามว่า มองกันว่าเวลาอีก 3-4 เดือนจะครบการทำงาน 1 ปีของรัฐบาล มีปัจจัยอะไรที่ ส่งผลให้ต้องปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า การปรับครม.มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงแต่เป็นการปรับเล็ก โดยเมื่อทำงานครบ 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการประเมินการทำงานของรัฐมนตรีแต่ละคน ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์ทางการเมือง โดยอาจจะมีการสลับผลัดเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม หรือเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางการเมือง หรือขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ จึงมองว่า ระยะเวลาตอนนี้ก็ผ่านมา 6-7 เดือนของรัฐบาลแล้วจึงมีโอกาสสูงที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้น แต่คิดว่าอาจจะไม่ได้เป็นการปรับใหญ่ โดย อาจจะเป็นลักษณะของการ "จูนเครื่อง" ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมีประสิทธิผลมากขึ้น หรือการเชื่อมต่อของกลไกรัฐ กลไกราชการให้ไร้รอยต่อมากขึ้น ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเกิดผล แต่ก็ต้องปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับคณะรัฐมนตรี เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล การเมืองในแต่ละพรรค
“กระบวนการในการพูดคุยเพื่อสร้างความลงตัว น่าจะเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ ในการที่จะเจรจาเพื่อจะวางตำแหน่ง หรือวางยุทธศาสตร์ ที่ทุกฝ่ายยอมรับและเป็นไปได้ การเมืองในระบบรัฐสภา รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ ส่วนใหญ่หรือเสียงข้างมากในสภาเป็นเรื่องสำคัญ ไปหากความสัมพันธ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลยังไปกันได้ หรือเป็นไปในทิศทางเชิงบวก โอกาสที่รัฐบาลไปต่อก็มีความเป็นไปได้สูง ทุกวันนี้การเมืองนอกสภาก็มีการเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ดังนั้นเสถียรภาพของรัฐบาลในสภา คือการต้องคุยกันให้ลงตัว ในการเดินหน้ายุทธศาสตร์ รวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรี" นายยุทธพรกล่าว
นายยุทธพรยังกล่าวถึงการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาล โดยยังไม่ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยประชุมนี้ ว่า การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านก็เป็นที่จับตาของสังคม เพราะในอดีต เราอยู่บนพื้นฐานความเชื่อทางการเมืองที่มองว่าคนเป็นรัฐบาลจะได้เปรียบ ในเรื่องของการใช้งบประมาณ การจัดสรรกำลังพล ขับเคลื่อนของระบบราชการต่างๆ แต่วันนี้การเมืองเปลี่ยนไป มีภาพสะท้อนให้เห็นว่าการที่ไม่อยู่ในฐานะของรัฐบาลก็สามารถสร้างพื้นที่ หรือสร้างผลงานหรือเรียกคะแนนนิยมได้ ซึ่งปรากฏการณ์ ของพรรคก้าวไกลก็เป็นผลงานที่พิสูจน์ตรงนี้ได้ แต่ปัจจุบันการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านของพรรคก้าวไกลก็เริ่มถูก คำถามว่ายังมีความเข้มข้น ในการตรวจสอบเหมือนกับตรวจสอบรัฐบาลชุดที่แล้วหรือไม่
“เรื่องของเอกภาพของฝ่ายค้าน ซึ่งสังคมก็ยังตั้งคำถามว่าฝ่ายค้านยังมีเอกภาพอยู่หรือไม่ ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีความสัมพันธ์ที่จะขับเคลื่อนหรือทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านได้หรือไม่ รวมถึงเรื่องของการยื่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ถูกสังคมตั้งคำถาม กันว่าถ้าพรรคก้าวไกลไม่อภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมนี้ เป็นเพราะมีดีลลับหรือไม่ หรือเป็นเพราะมีการพูดคุยกันเบื้องหลังหรือไม่ ซึ่ง ส่วนตัวมองว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น
นายยุทธพร กล่าวว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเกิดหรือไม่เกิด มาจาก 2 เรื่องใหญ่คือ สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และเงื่อนไขหรือกติกาในทางกฎหมาย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ใน 1 ปีจะทำได้เพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ฉะนั้นสิ่งที่ฝ่ายค้านจะยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจะต้องเป็น"หมัดเด็ดหมัดน็อค" หรือสิ่งที่เป็นแรงกระเพื่อมในทางสังคมต่อรัฐบาล เพราะวันนี้หาก 314 เสียงในรัฐบาลยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลยังไปกันได้ ก็ไม่มีอะไรที่จะสั่นคลอนได้ ที่ไม่ว่าจะโหวตอย่างไร รัฐบาลก็ชนะ แต่เป้าหมายหลักของการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือกระบวนการที่จะทำให้เกิดแรงกดดันทางสังคม ที่จะต่อเนื่องออกไปจากสภา แต่ถ้าวันนี้หากแรงกดดันทางสังคมยังมีไม่มากพอ การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไปก็อาจจะทำให้"เสียของ"หรือเป็นการใช้โอกาสเปลืองของฝ่ายค้าน ดังนั้น เราจึงไม่เห็นการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นได้ง่าย บวกกับปัจจัยสถานการณ์ทางการเมือง เพราะวันนี้เราจะเห็นสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังเป็นไปในทางบวก ดังนั้น เมื่อมีการอภิปรายในแต่ละยุคแต่ละสมัย เราจะเห็นได้เลยว่าหากรัฐบาลจะไปต่อไม่ได้ มักเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ในพรรคร่วมรัฐบาลไม่ดี และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ ณ วันนี้สถานการณ์ทางการเมืองเรายังไม่เห็นภาพเช่นนั้น และสถานการณ์ของพรรคก้าวไกลก็อยู่ในระยะพักตัวสักระยะหนึ่ง เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีล้มล้างการปกครอง ตนจึงคิดว่าโอกาสที่จะได้เห็นการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีไม่มาก ประกอบกับใกล้จะปิดสมัยประชุมสภาในช่วงเดือนเมษายน รวมถึงเทศกาลวันหยุดด้วยทำให้ความสนใจในเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองทุกคนน้อยลง
เมื่อถามว่า มองว่าจะมีปรากฏการณ์ที่ฝากเลี้ยง หรือการซื้อตัวสส.เกิดขึ้นในพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า ตนคิดว่าพรรคก้าวไกลมีบทเรียนจากปรากฎการณ์"ผึ้งแตกรัง"ในสมัยพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เรื่องการเกาะเกี่ยวทางการอุดมการณ์ กลไกที่จะเกาะกันเองในพรรคน่าจะมีสูงขึ้น แต่เราก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าอะไรก็เกิดขึ้นในการเมืองไทย นอกจากจะมีการเมืองที่เป็นทางการแล้ว ในส่วนหนึ่งก็จะมีการเมืองที่ไม่เป็นทางการด้วย ฉะนั้น การใช้การเมืองที่ไม่เป็นทางการในการดูดสส. เพื่อที่จะทำให้เกิดการย้ายพรรคข้ามขั้ว ดังคำกล่าวที่ว่าพรรคเดียวกันแต่คนละขั้ว พวกเดียวกันแต่คนละพรรค ฉะนั้น ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการเช่นนี้สะท้อนให้เห็นการพลิกผันทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา