"ชัยวัฒน์" แจง "กมธ.สภา" ยืนยันที่ดิน ส.ป.ก.ทับซ้อน เป็นของอุทยาน 100% ชี้มีข้อมูล-หลักฐานยืนยัน โวยกรมแผนที่ทหาร "ซื่อสัตย์-พูดความจริง" ลั่นไม่มีแนวกันชน ท้าเจอที่ศาล

 ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 28 ก.พ.67 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวก่อนเข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาศึกษาเรื่อง ปัญหาเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ว่า กมธ. ได้เรียกตนมาชี้แจงในเรื่องทึ่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) รุกเข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเรายืนยันชัดเจนอยู่แล้วว่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีเส้นแบ่งเขตตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) ที่ผ่านมติทุกเรื่องมาแล้ว ตนยืนยันความชัดเจน และความถูกต้อง และคงมีหลายเรื่องที่จะต้องชี้แจงใน กมธ.

 ส่วนกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุกรมแผนที่ทหารยืนยันพื้นที่ดังกล่าวเป็นแนวกันชนนั้น นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า “ไม่มีหรอกครับ แนวกันชน พ.ร.ก. เป็นแบบไหนก็แบบนั้น จะมาบอกว่าตรงนั้นเป็นแนวกันชน ไม่ใช่
 เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของกรมอุทยานฯ ใช่หรือไม่ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ”ใช่ครับ“ พร้อมกล่าวต่อว่า ตนขอถามกลับว่า คำว่า ‘แนวกันชน’ เป็นแนวหลอกลวงหรือเปล่า ขอยืนยันว่ากรมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพ.ร.ก. จะเอาช่องว่างนั้นเป็นแนวกันชนไม่ได้ เรายืนยันด้วยหลักฐานที่เรามี และใช้ในชั้นศาลมา 30 ปีแล้ว

 สำหรับการที่อ้างว่าจะนำพื้นที่แนวกันชนนี้ ไปให้ชาวบ้านปลูกป่านั้น ไม่เกี่ยว ตรงนั้นเป็นแนวของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าความบริสุทธิ์ใจที่ออกมาแถลงข่าวแบบนั้น ก็รีบทำเลย ต้องเข้าใจว่า ’แนวกันชน’ ในมาตรา 18 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เป็นเส้นสีฟ้า ไปดูได้เลยว่าแนวกันชนห่างจากอุทยานแห่งชาติออกไป 3 กิโลเมตร ไม่ใช่เอาช่องว่างของป่า หรือเส้นมาแบ่งเขตว่า ไม่ได้อยู่ในอุทยาน และเป็นแนวกันชน มันไม่ได้ ยืนยัน 100% ว่าเป็นพื้นที่ของเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

 ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) เอามาใช้ไม่ได้จริงใช่หรือไม่ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า One Map ยังไม่ได้ประกาศใช้ และคนที่อยู่ในคณะกรรมการ One Map ก็เป็นคนเดียวกันกับที่มาอ้าง และออกเอกสารนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนจะเป็นเอกสารที่ถูกต้องหรือไม่ค่อยมาว่ากัน เมื่อถามว่า จะมีโอกาสเข้าชี้แจงกับนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีให้โอกาส ให้กรมอุทยานฯ หรือเจ้าหน้าที่เข้าชี้แจง ตนก็พร้อมที่จะเข้าไปชี้แจงความชัดเจน ความแม่นยำ ความถูกต้องต่อผืนป่าทั่วประเทศ ทั้งนี้มองว่าการตัดสินของกรมแผนที่ทหารต้องพูดความจริงทั้งหมด เอารายละเอียดมาคุยกัน เรื่องจะจบง่าย แต่ถ้าเป็นแบบนี้ ไม่จบแน่นอน
 ส่วนได้มีการคุยกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว หรือไม่นั้น ท่านสั่งการอยู่แล้ว ให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และรอบคอบ ตนจะเดินหน้าต่อ ไม่มีปัญหา ”ท่านเชื่อมั่นในเราอยู่แล้ว ถ้าไม่เช่นนั้นท่านก็ต้องปล่อยผมลอยคอสิ วันนี้ท่านบอกว่า ถ้าถูกต้อง ก็ทำเลย“

 เมื่อถามย้ำถึงการเรียกผู้ใหญ่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาคุยกัน เป็นความเข้าใจไม่ตรงกันใช่หรือไม่ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ตนคิดว่าผู้ใหญ่ฝั่งกระทรวงเกษตรฯ ต้องเข้าใจก่อน ที่เคยพูดว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนหมายความว่าอย่างไร แนวเขตป่าอนุรักษ์คืออะไร ไม่ใช่ว่าขีดเข้ามาในแนวป่า แล้วบอกว่าเป็นแนวกันชน เป็นป่าชุมชน หรือปลูกป่าร่วมกัน มันไม่ใช่ ไม่อย่างนั้น คำพิพากษาศาลทุกคดีที่ถูกตัดสินไปแล้ว แสดงว่าเราผิด หรือแสดงว่าเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ถือว่ามีความผิด ใช่หรือไม่

 เมื่อถามว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องคืออะไร นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ทุกคนต้องพูดความจริง กรมแผนที่ทหารต้องมีความซื่อสัตย์ในตัวเองก่อน ถ้ากระโดดไป กระโดดมา แบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ต้องเรียนว่า ตนก็เรียนการสำรวจพื้นที่ การทำรังวัดแผนที่มา เป็นรุ่นแรกที่ทำสมุดจดการรังวัด (Field Book) และสมุดจดการรังวัดแบบไฟล์ดิจิตอล ในปัจจุบันมีความคลาดเคลื่อนเพียง 5 เซนติเมตร จะมาบอกว่า ตรงนั้นเป็นแนวของ ส.ป.ก. ไม่ได้ ตนขอถามว่า หลักของ ส.ป.ก.มีหรือไม่ เส้นของกรมพัฒนาที่ดินที่ระบุว่าการจำแนกที่ดินของ ส.ป.ก.มีหลักหมุดหรือไม่ ไม่ใช่เขียนในกระดาษแล้วมาบอกว่าใช่ ตนมีหมุดมีแผนที่มีถนนรอบแนวเขตที่ใช้งบประมาณถึง 145 ล้านบาท ก็ขอให้สังคมใช้วิจารณญาณว่าของใครน่าเชื่อถือที่สุด เจอกันที่ศาล

ที่ศาลปกครอง นายสนธิญา สวัสดี  อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร  เดินทางไปยื่นฟ้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ต่อศาลปกครองกลาง กรณีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) จัดสรรที่ดินส.ป.ก. 4-01 จำนวน 1.6 ล้านไร่  ออกเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรให้เกษตรกรใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงิน ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จึงขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว โดยสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวของสำนักงานส.ป.ก.ไว้จนกว่าจะมีการพิสูจน์พื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ดินส.ป.ก.กับเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติจำนวน 142 แห่ง  และเขตพื้นที่มรดกโลก 7 แห่งทั่วประเทศ จนกว่าจะมีข้อสรุปทางกฎหมายชัดเจนต่อไป ส่วนพื้นที่ที่อยู่นอกพื้นที่ทับซ้อนก็ให้ดำเนินการไปตามนโยบายของรัฐบาลตามปกติต่อไป

"ที่มาร้องผมไม่ได้คัดค้านการแจก ส.ป.ก.4-01 ไปออกโฉนดครุฑเขียวเพื่อเกษตรกรรม แต่ต้องการให้กรณีทับซ้อนอุทยานแห่งชาติ  ซึ่งมีอยู่ 142 แห่งทั่วประเทศ หยุดไว้ก่อน   แต่ในส่วนอื่นอีกประมาณ 1.6 ล้านไร่   รัฐบาลก็ดำเนินการไป ไม่มีปัญหา จะเป็นผืนป่าเสื่อมโทรมอย่างเช่นที่ดินของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่มีอยู่ปัจจุบัน   ก็เอามาแจกประชาชนได้คนละ 50-100 ไร่   ที่ต้องมาเรียกร้องเช่นนี้เพราะผมกลัว  เนื่องจากเจอกับตัวเองที่นครศรีธรรมราชและมีผู้ร้องเรียนมาโดยเฉพาะที่ อ.คีรีวง  ซึ่งเป็นพื้นที่โอโซนที่ดีที่สุดในประเทศไทยก็มีปัญหากันอยู่ หรือเฉพาะที่นครราชสีมา  ที่เดียววันนี้ก็ทับซ้อนกันจนไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรแล้ว จึงเห็นว่าถ้าต้องการให้สะอาดหมดจดจริงๆ  ในเขตอุทยานก็ต้องยุติชั่วคราว แล้วสอบกันให้ชัดเจนก่อน” นายสนธิญา กล่าว