วันที่ 28 ก.พ.67  ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก "Anan Jongkaewwattana" ระบุว่า ข่าวดีสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้อาหาร เช่น ถั่วลิสง นม ไข่ หลังจากงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร NEJM ระบุว่า ยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืดในรูปแบบแอนติบอดี ชื่อว่า Omalizumab สามารถลดความรุนแรงจากอาการแพ้อาหารเหล่านี้ได้ งานวิจัยได้แสดงผลการทดสอบในอาสาสมัคร 180 คน (เด็ก 177 และ ผู้ใหญ่ 3คน) ที่ผ่านการยืนยันด้วยการให้รับประทานถั่วลิสง และ อย่างอื่นอีกอย่างน้อย 2 อย่างจาก (นม ไข่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และ ถั่วชนิดต่างๆ) ว่ามีอาการแพ้จริงๆ โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ได้รับยาโดยการฉีดทุกๆ 2-4 สัปดาห์ เป็นเวลา 16-20 สัปดาห์ เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก หลังจากนั้นทำการทดสอบอาสาสมัครด้วยถั่วลิสง และ อาหารอื่นๆอีกครั้ง พบว่า 67% ของอาสาสมัครในกลุ่มที่ได้รับยา สามารถรับประทานถั่วลิสง และ อื่นๆ ในปริมาณเท่ากับก่อนทำการทดสอบได้โดยไม่มีอาการแพ้เหมือนก่อนการทดสอบ เทียบกับ 7% ในกลุ่มยาหลอก การได้รับยา Omalizumab เหมือนเป็นการเพิ่มระดับของร่างกายที่สามารถทนต่ออาหารที่ก่อการแพ้ได้ให้สูงขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ผู้ได้รับยาหายจากการแพ้อาหารนั้น ดังนั้น ถ้าผู้ได้รับยาคิดว่าสามารถทานถั่วลิสงได้แล้ว และ เพิ่มปริมาณเกินกว่าที่ยาจะป้องกันได้ ก็จะสามารถเกิดอาการแพ้ได้อีกเช่นกัน

Omalizumab เป็นแอนติบอดีที่ออกแบบมาให้จับกับโปรตีน IgE ซึ่งเป็นโปรตีนของแอนติบอดีเช่นกัน แต่ IgE จะเป็นแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น จากอาหารที่รับประทานเข้าไป การฉีด Omalizumab ก็เป็นการควบคุมปริมาณ IgE ในร่างกายไม่ให้มีสูงจนเกิดอาการไม่พึงประสงค์ แต่ เมื่อปริมาณสารก่อการแพ้มีมากเกิน Omalizumab จะเอาอยู่ IgE ก็จะสูงสร้างจนร่างกายตอบสนองในรูปของการแพ้นั่นเอง

 

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก "Jongkaewwattana