ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายกันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และ รองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 4 และปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯมีรายได้รวม 6,018 ล้านบาท (ไตรมาส 4/2565: 5,502 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 516 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 9%) โดยสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรมต่อรายได้จากธุรกิจอาหาร อยู่ที่ 46% : 54% (ไตรมาส 4/2565: 43% : 57%) ขณะที่กำไรขั้นต้นรวม 3,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 57% ของรายได้ (ไม่รวมรายได้อื่น) ลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 4/2565: 58%) จากการลดลงของอัตรากำไรขั้นต้นธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร บริษัทฯมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 1,476 ล้านบาท (ไตรมาส 4/2565: 1,531 ล้านบาท) ลดลง 55 ล้านบาท (หรือ 4%) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของ EBITDA ธุรกิจอาหาร โดยอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 25% ลดลงเทียบกับปีก่อน (ไตรมาส 4/2565: 28%) จากการลดลงของอัตราการทำกำไรของธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร จากต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ปรับเพิ่มขึ้นเทียบปีก่อน
สำหรับธุรกิจโรงแรม อัตราการทำกำไรยังได้รับผลกระทบจากการปิดปรับปรุงบางส่วนของโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยาและปิดปรับปรุงโรงแรม เซ็นทารา กะรน รีสอร์ท ภูเก็ต รวมถึงอัตราการทำกำไรของโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงเริ่มเปิดดำเนินการและยังเติบโตไม่เต็มที่ บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ (EBIT) 719 ล้านบาท ลดลง 47 ล้านบาท หรือ 6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาส 4/2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ 297 ล้านบาท ลดลง 201 ล้านบาท หรือ 40% เทียบปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจากการกลับรายการขาดทุนสะสมยกมาในปี 2566 ที่บันทึกในไตรมาส 4 ทั้งจำนวนจากธุรกิจโรงแรมเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี บริษัทฯมีรายการพิเศษจากการกลับรายการด้อยค่าสินทรัพย์สุทธิจากภาษีเงินได้รอตัดบัญชีและค่าเสื่อมราคาจำนวน 128 ล้านบาท ในส่วนของโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว มีการฟื้นตัวดีกว่าคาดอย่างมีนัยสำคัญจากการประมาณการด้อยค่าสินทรัพย์จากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อปี 2563 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิหลังรายการพิเศษจำนวน 425 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2566 ลดลง 73 ล้านบาท หรือ 15% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ไตรมาส 4/2566 บริษัทฯมีกำไรจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับเงินกู้ยืมสกุลเงินต่างประเทศจำนวน 13 ล้านบาท (ไตรมาส 4/2565: กำไร 116 ล้านบาท)
ขณะที่สถานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 54,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,038 ล้านบาท หรือ 13% เทียบกับสิ้นปี 2565 สาเหตุหลักมาจากเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สิทธิการใช้จำนวน 6,380 ล้านบาท จากการต่อสัญญาเช่าระยะยาวโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช และรีสอร์ท หัวหิน และสัญญาเช่าโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นเพิ่มขึ้น 292 ล้านบาท ขณะที่เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดลดลง 618 ล้านบาท และสินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่นลดลง 319 ล้านบาทเทียบสิ้นปี 2565
โดยมีหนี้สินรวม มีจำนวน 34,186 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,911 ล้านบาท หรือ 17% จากสิ้นปี 2565 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สินตามสัญญาเช่า จำนวน 6,296 ล้านบาท จากการต่อสัญญาเช่าระยะยาวโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช และรีสอร์ท หัวหิน และสัญญาเช่าโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า หุ้นกู้เพิ่มขึ้น 1,903 ล้านบาท ขณะที่เงินกู้ยืมระยะยาวสถาบันการเงินลดลง 3,645 ล้านบาท เทียบสิ้นปี 2565 ซึ่งบริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นรวมจำนวน 20,018 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 จำนวน 1,127 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากกำไรสุทธิของบริษัทฯจากผลประกอบการปี 2566 จำนวน 1,248 ล้านบาท
ดังนั้นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ มีกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน 4,921 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 722 ล้านบาท เทียบกับปีก่อน กระแสเงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมลงทุนจำนวน 1,586 ล้านบาท ลดลง 212 ล้านบาท (หรือ 12%) โดยส่วนใหญ่เป็นการจ่ายเพื่อซื้อที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ จำนวน 1,936 ล้านบาท และเงินลงทุนและเงินให้กู้ยืมแก่กิจการร่วมค้าเพิ่มขึ้น 130 ล้านบาท ในขณะที่มีดอกเบี้ยรับจำนวน 291 ล้านบาท และเงินสดรับจากสินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่นลดลง 319 ล้านบาท บริษัทฯมีกระแสเงินสดใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 3,886 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,370 ล้านบาท เทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่เกิดจากการชำระเงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน 7,999 ล้านบาท ชำระคืนเงินต้นของหนี้สินตามสัญญาเช่าจำนวน 1,655 ล้านบาท และชำระคืนหุ้นกู้จำนวน 1,084 ล้านบาท สุทธิด้วยเงินสดรับจากเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 4,474 ล้านบาท และเงินสดรับจากการออกหุ้นกู้ 3,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นายกันย์ ยังกล่าวถึงปัจจัยที่อาจมีผลต่อการดำเนินงานในปี 2567 ว่า ในส่วนของธุรกิจโรงแรมด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดย United Nations World Tourism Organization (UNWTO) ประมาณการการท่องเที่ยวโลกปี 2567 เติบโต 2% เทียบช่วงก่อนโควิด (ปี 2562) โดยคาดว่าการท่องเที่ยวแถบเอเชียจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโต ซึ่งฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาคอื่นในปีก่อน รวมถึงการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของการท่องเที่ยวโลก ดังนั้นจึงยังคงมีปัจจัยที่ท้าทายทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯยังคงให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้วยความระมัดระวัง ทั้งเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่ายโดยเน้นการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการมีวินัยทางการเงิน ขณะที่บริษัทฯยังคงการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเพื่อสร้างความเติบโตในอนาคต ด้วยการจัดสรรเงินทุนอย่างระมัดระวัง บริษัทฯ ได้จัดหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนที่เหมาะสมจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน และการออกตราสารหนี้ในตลาดตราสารหนี้ รวมถึง การจ่ายคืนเงินกู้ก่อนกำหนดจากกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานเพื่อลดภาระดอกเบี้ย
ซึ่งในปี 2567 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ระดับ 5 ดาวจำนวน 515 ห้อง จะเปิดดำเนินการเต็มปีเป็นปีแรก ทางบริษัทฯ จะมีวิธีบันทึกการรับรู้ผลการดำเนินงานดังนี้
บริษัท Centara Osaka Japan Kabushiki Kaisha ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100% และเป็นผู้เช่าทรัพย์สินเพื่อดำเนินกิจการโรงแรม บริษัทฯบันทึกผลการดำเนินงานของโรงแรมซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อยทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนในงบการเงินรวม และบริษัท Centara Osaka Tokutei Mokutei Kaisha ปัจจุบัน บริษัทฯ ถือหุ้น 53% เป็นบริษัทร่วมทุนและเป็นผู้ถือทรัพย์สิน บริษัทฯ บันทึกผลการดำเนินงานและมูลค่าเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียในงบการเงินรวม
พร้อมกันนี้ยังมีการการปรับปรุงใหญ่ (Major Renovation) สำหรับโรงแรมในประเทศไทย 2 โรงแรม คือ โรงแรมเซ็นทารา กะรน ภูเก็ต จำนวน 335 ห้อง โดยเริ่มปิดโรงแรมทั้งหมดเพื่อปรับปรุงในช่วงไตรมาส3/2566 กำหนดจะทยอยเปิดดำเนินการในช่วงไตรมาส 4/2567 - ไตรมาส 2/2568 ส่วนโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา จำนวน 553 ห้อง ทยอยปิดปรับปรุง โดยเริ่มในช่วงไตรมาส 3/2566 กำหนดจะทยอยเปิดดำเนินการในแต่ละเฟสในช่วงไตรมาส 2/2567 - ไตรมาส 1/2568
อีกทั้งยังมีกำหนดเปิดโรงแรมเซ็นทารามิราจ ลากูน มัลดีฟส์ จำนวน 145 ห้อง ไตรมาส 4/2567 และ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลากูน มัลดีฟส์ จำนวน 142 ห้อง ในไตรมาส 1/2568 ซึ่งคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในช่วงเตรียมเปิดดำเนินการ (pre-opening expenses) รวมทั้ง 2 โรงแรมประมาณ 200 – 250 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะทยอยรับรู้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567
ขณะที่ธุรกิจด้านอาหารนั้น นายกันย์ กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ปรับตัวสูงขึ้นและมีความผันผวน จึงได้มีการวางแผนในการเจรจาต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสำหรับวัตถุดิบหลักในบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา และหาแหล่งวัตถุดิบทดแทน รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และจัดโปรโมชั่นหรือกิจกรรมส่งเสริมการขายให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากนี้บริษัทฯ มีแผนการปิดสาขาที่ไม่สามารถทำกำไรได้ตามเป้าหมายเพื่อรักษาอัตราทำกำไรของบริษัทฯ และพิจารณาเปิดสาขาใหม่ด้วยความระมัดระวังมากขึ้นโดยมุ่งเน้นการขยายสาขาในแบรนด์หลักที่มีอัตราการทำกำไรสูง รวมถึงการปรับลดขนาดหรือปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สะท้อนกับยอดขายหรือกลุ่มลูกค้าที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน
พร้อมกันนี้ยังได้วางแผนเป้าหมายระยะยาวในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม 2563-2572 ลดการใช้พลังงาน การใช้น้ำ การจัดการของเสีย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 20 จากปีฐาน 2562 ซึ่งการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ในปี 2566 โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) เพิ่มอีก 12 โรงแรม รวมทั้งสิ้น 25 โรงแรม
ส่วนทางด้านสังคมได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 จาก Kincentric Best Employers Thailand ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความทุ่มเทในการทำให้บริษัทฯ เป็น The Place To Be Best Workplace สำหรับพนักงานทุกคน จากการดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในปี 2566 มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งระดับองค์กรในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ โดยได้รับการพิจารณาอยู่รายชื่อหุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ได้รับ SET ESG RATINGS ระดับ A และ ได้รับการพิจารณา MSCI ESG Rating ระดับ A เป็นปีแรก รวมถึงการติดอันดับองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนระดับโลกโดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิก S&P Global Sustainability Yearbook 2024 ระดับ Industry Mover เป็นปีแรก ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาด้านความยั่งยืนในลำดับต่อไป
เพราะฉะนั้นแนวโน้มของธุรกิจปี 2567 ทางด้านธุรกิจโรงแรม คาดการณ์อัตราการเข้าพักเฉลี่ย (รวมโรงแรมร่วมทุน) 70% - 73% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) อยู่ที่ 4,000 – 4,300 บาท โดยปัจจัยส่งเสริมการเติบโตที่สำคัญ 1.การเติบโตอย่างต่อเนื่องโรงแรมระดับ 5 ดาวขึ้นไป ในประเทศไทย 2.การเติบโตอย่างต่อเนื่องของโรงแรมเซ็นทารา มีราจ บีช รีสอร์ท ดูไบ 3.การฟื้นตัวของโรงแรมเดิมในมัลดีฟส์ทั้ง 2 โรงแรม ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวจากฐานต่ำในไตรมาสที่ 2 และ 3 ในปีที่ผ่านมาและการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวชาวจีน 4.ผลการดำเนินงานของโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ โอซาก้า จากการเปิดดำเนินการเต็มปีเป็นปีแรกในปี 2567 และในครึ่งปีหลังปี 2567 คาดว่าจะได้รับผลบวกจากการเตรียมงาน World EXPO 2025 ที่เมืองโอซาก้า ก่อนจะจัดงานในปี 2568
ด้านธุรกิจอาหารในปี 2567 บริษัทฯ ประมาณการอัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales: SSS) (ไม่รวมกิจการร่วมค้า) 3% - 5% เทียบปีก่อน และอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (Total-System-Sales: TSS) จะอยู่ในช่วง 8% - 11% เทียบปีที่ผ่านมา โดยการเติบโตของรายได้ยังคงมาจาก 4 แบรนด์หลักเป็นสำคัญ สำหรับการเติบโตของจำนวนสาขา บริษัทฯ คาดว่าจะมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสุทธิ (รวมกิจการร่วมค้า) ประมาณ 80-95 สาขา (รวมสาขา shop-in-shop อาริกาโตะในมิสเตอร์โดนัท) หรือเติบโต 5% - 6% เทียบปีก่อน