วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป ประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เดินทางลงพื้นที่ ติดตามสภาพปัญหาด้านความมั่นคงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา การบริหารจัดการและการปฎิบัติหน้าที่กรณีการรองรับผู้หลบหนีภัยจากความไม่สงบจากประเทศเมียนมา ตลอดจนการบริหารจัดการรองรับปัญหาในอนาคต  ซึ่งคาดว่า สถานการ์ชายแดนฝั่งประเทศเพื่อนยังไม่สงบ  พร้อม ติดตามการดูแลการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆในพื้นที่ชายแดน   อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย  จ. แม่ฮ่องสอน  ระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2567 โดยลงพื้นที่ 3 จุด คือ อำเภอแม่สะเรียง   ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน อำเภอสบเมย    และ บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน


          
ซึ่งที่ศาลาริมน้ำบ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน   นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ  ฯ  อาทิ นายมานพ คีรีภูวดล นายวัชระ  ยาวอหะซัน  นายชุติพงศ์  พิภพภิญโญ นางปทิดา  ตันติรัตนานนท์  นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม และนายรอมฎอน  ปันจอร์ ได้ ลงพื้นที่ บ้านแม่สามแลบ  โดยมี   นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน     นายศราวุธ ทังดิน นายอำเภอสบเมย  พันเอกสมภพ ใจบุญ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36   นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ พ.ต.อจะเด็ด หินทองคำ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสบเมย นายณัฎพล เอกแสงศรี รักษาราชการแทนนายด่านศุลกากรแม่สะเรียง  ผู้นำชุมชน   และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือสถานการณ์พี่น้องไทย-เมียนมา  

โดยในระดับพื้นที่ได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการชายแดนฝั่งบ้านแม่สามแลบ ซึ่งเป็น อีกหนึ่งจุดผ่อนปรนการค้าชายแดน ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่สร้างงานสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนทั้งสองฝากฝั่งชายแดนไทย-เมียนมา   

ด้าน นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ    ได้นำเสนอประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง คือ 1.การบริหารจัดการชายแดน  2.การค้าชายแดน 3.การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามแนวชายแดน และ 4.สถานการณ์ปัญหา สาธารณูปโภค การพัฒนาตามแนวชายแดน  ทั้งนี้ได้ฝากคณะกรรมาธิการฯ ดูเรื่องการเปิดนำเข้าโค-กระบือ เนื่องจากเป็นรายได้หลักของคนในพื้นที่ จะทำให้เศรษฐกิจการค้าชายแดนสะพัดขึ้นอีกระดับหนึ่ง  นอกจากการค้าขายด้านเครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่ง 90% ประเทศเพื่อนบ้าน นำเข้าสิ่งของเครื่องใช้จากฝั่งไทย 

ขณะที่คณะกรรมาธิการ ได้ลงพื้นที่จริงเพื่อรับทราบข้อมูล/ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ สภาพปัญหาด้านความมั่นคง ,ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่,รวมทั้งสถานการณ์ความไม่สงบตามบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา, การบริหารจัดการและการปฎิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนที่ผ่านมา โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้ สถานการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดน ฝ่ายความมั่นคงได้ชี้แจงว่าปัจจุบันสถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายไปในทางที่ดีเนื่องจากฝ่าย ทหารเมียนมาได้ถอนกำลังตามแนวชายแดนกลับเข้าไปเขตใน  มวลชนชนกลุ่มน้อย สามารถควบคุมพื้นที่ตามแนวแม่น้ำสาละวินเกือบทั้งหมด ทำให้การดำรงชีวิตประจำวันของราษฎรทั้ง 2 ฝั่งอยู่ในภาวะปกติ  

สำหรับ สภาพการค้าชายแดน,เศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐซึ่งในพื้นที่มีระบบการค้าขายแบบประชาชนกับประชาชนทั้งสองฝั่ง ศุลกากรได้ชี้แจงว่า ปัญหาและอุปสรรคการนำเข้า – ส่งออกสินค้า สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาจะเป็นตัวกำหนดว่าได้หรือไม่, ในห้วงที่ผ่านมาสินค้าออกซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทอุปโภคและบริโภค การดำเนินการเป็นไปตามระบบ/ข้อบังคับ ไม่มีปัญหาหรือผลกระทบใดๆ,การสั่งซื้อสินค้าของชุมชนในรัฐกะเหรี่ยง ฝั่งเมียนมาไม่มีข้อกังวลเพราะการสั่งซื้อจะผ่านผู้นำในพื้นที่อยู่แล้ว สำหรับสินค้าเข้า ส่วนใหญ่จะเป็นประเภท โค,กระบือ และแร่

โดยในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างชะลอการนำเข้าทำให้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการและรายได้ของราษฎรที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  ซึ่งทางฝ่ายความมั่นคง มีความกังวล คือความปลอดภัยในการเดินเรือในแม่น้ำสาละวิน การค้าขายต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินเรือ  นอกจากนี้เห็นว่า  ในส่วนของ อบต.แม่สามแลบฯ กล่าวว่าปัจจุบัน จนท.ที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนและฝ่ายความมั่นคง มีภารกิจมากมายจึงเสนอให้ตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการค้าชายแดนในพื้นที่เพื่อความรวดเร็วตอบสนองความต้องการของประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง 


             
สำหรับ  ข้อห่วงใยของคณะกรรมาธิการฯ  ระบุว่า สถานการณ์การสู้รบในเมียนมามีแนวโน้มว่าจะบานปลาย จุส่งผลทำให้มีผู้หนีภัยความไม่สงบ น่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้ส่วนต่างๆมีความพร้อมอยู่เสมอเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์
                
ในส่วนของ พื้นที่ อ.แม่สะเรียง  คณะกรรมาธิการฯ ได้ติดตามพร้อมรับฟังบรรยายสรุป เรื่องการทำงานในพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หนีภัยความไม่สงบ   บ้านเสาหิน  ต.เสาหิน   บ้านจอปาคี และ บ้านอูนุ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง  จากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสัมคม   เพื่อรับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงสถานการณ์การสู้รบ แผนการรองรับการช่วยเหลือ การบริหารจัดการต่างๆ ในอนาคต  จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อ ที่จะนำเสนอข้อมูล จากสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนไทยแถบชายแดน ในเขต อ.แม่สะเรียง การรับมือกับผู้ลี้ภัย  ตามหลักมนุษยธรรม  


                   
อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่  ณ ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  มี นายศราวุธ ทังดิน นายอำเภอสบเมย นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายสถานะบุคคล ให้การต้อนรับและกล่าวว่า พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่รองรับผู้ลี้ภัยจากการสู้รบอยู่ 4 ค่าย(ศูนย์พักพิง) ซึ่งแม่ฮ่องสอนเราจะปฎิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ มีโอกาสเป็นพื้นที่รองรับมากกว่าที่อื่น เนื่องจากมีพื้นที่ติดชายแดน ในการที่เพื่อนบ้านเกิดความไม่สงบในประเทศ ปชช.ได้หนีภัยสงครามเข้ามา ด้วยมนุษยธรรมต้องช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากการสู้รบให้ที่พักพิง พร้อมกับชมการแสดงของเด็กนักเรียนชุมชนคู่ขนานที่ได้เข้ามาเรียนตาม รร.ชายขอบ ที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่หนีภัยสงครามเข้ามา ซึ่งไม่ชอบชีวิตที่ถูกกักขังอยู่แต่ในศูนย์พักพิงไม่มีอิสรภาพ ในการแสดงที่ชื่อว่า “ต่าโอ๊ะมู” แปลไทยหมายถึง ชีวิตความเป็นอยู่
               
อีกทั้งการลงพื้นที่ครั้งนี้ของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร มีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ สภาพปัญหาด้านความมั่นคง และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา รวมทั้งสถานการณ์ความไม่สงบตามบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา การบริหารจัดการและการปฎิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนที่ผ่านมา ข้อเสนอแนะในการทำงาน และประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงของภาครัฐและภาคประชาสังคม เกี่ยวกับปัญหาด้านความมั่นคง กิจการชายแดนไทย-เมียนมา