"บิ๊กโต้ง" กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เผยความคืบหน้าผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบว่า ตนเองบขอเรียกร้องให้ลูกหนี้นอกระบบมีความกล้าหาญ ที่จะมาลงทะเบียนในจุดรับลงทะเบียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไม่เช่นนั้น รัฐบาลจะขาดโอกาสที่จะช่วยเหลือตามความตั้งใจของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ขอให้มั่นใจว่าการมาลงทะเบียนเป็นสิ่งยืนยันว่า จะได้รับการคุ้มครองดูแลและแก้ไข พร้อมทั้งขอให้เจ้าหนี้ เข้ามาร่วมลงทะเบียนด้วยเช่นกัน รัฐบาลก็จะคุ้มครองเจ้าหนี้ด้วย
"ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องใช้หนี้ที่ยืมมา แต่ลูกหนี้ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กำหนด ฉะนั้นเจ้าหนี้ที่ยังได้รับชำระหนี้ไม่ครบจำนวนเงินต้นที่มีอยู่ ท่านก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองจากกลไกในการลงทะเบียนด้วยเช่นกัน การดำเนินการในส่วนนี้ขอเรียนสั้นๆ ว่า หนี้นอกระบบที่จ่ายดอกเบี้ยจำนวน อัตราสูงท่วมเงินต้น ควรถือว่าจบกันแล้ว การที่เจ้าหนี้ยังคงคิดว่าจะเรียกร้องดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย"
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเวลานี้การแก้หนี้ทุกภาคส่วนมีความคืบหน้า การแก้ไขบางส่วนจะเห็นจำนวนของลูกหนี้ ที่อยู่ในสถานะหนี้ที่ไม่ทำให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลลดลงอย่างชัดเจน และหนี้ที่ค้างอยู่เมื่อเทียบกับจีดีพี เป็นหนี้ที่จะถูกสามารถชำระได้โดยลูกหนี้ และไม่อยู่ในสถานะเอ็นพีแอล ดังนั้นขอยืนยันว่าคณะทำงานยังคงทำงานอย่างเต็มความสามารถไม่เว้นวันหยุดเพื่อทำให้ความคืบหน้าตรงนี้บรรลุเป้าหมายจนกระทั่งการแก้ไขหนี้ทั้งระบบเบ็ดเสร็จภายในระยะเวลาของรัฐบาลนี้
สำหรับการช่วยเหลือหนี้นอกระบบ ได้มีการสั่งการเบื้องต้นคือ 1.ให้นายอำเภอ และตำรวจในท้องถิ่น ช่วยเจรจาประนอมหนี้ สำหรับผู้ที่จ่ายเงินต้นครบถ้วนแล้ว ,2. เปิดให้ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ (ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2566 ถึง หมดเขต 29 ก.พ. 2567) และ3.กรณีไม่สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ให้ติดต่อที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตเพื่อให้เจ้าหน้าดำเนินการลงทะเบียนให้ได้
นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนของหนี้นอกระบบอื่น ต้องขอบคุณธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง และสถาบันการเงินหลายแห่ง ที่ให้ความร่วมมือ กับแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีกลไกที่เรียกว่า คลินิกแก้หนี้ โดยกลไกนี้สามารถทำให้ลูกหนี้ที่ตกอยู่ในภาวะชำระหนี้ไม่ได้ สามารถกำหนดเงินต้นที่ถูกต้อง และมีการผ่อนชำระคืนในระยะสั้น ระยะปานกลาง ระยะยาว ในอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน ร้อยละ 3-5 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และต้องยอมรับความจริงว่า ยังมีสถาบันการเงินและธนาคารบางแห่งไม่ให้ความร่วมมือเรื่องคลินิกแก้หนี้ ซึ่งตนจะดำเนินการเพื่อขอร้องให้สถาบันการเงินเหล่านั้นร่วมมือ ในส่วนการกำหนด ค่าผ่อนต่างๆให้เป็นไปตามศักยภาพ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย มีระเบียบข้อกำหนด ในเรื่องการตัดเงินเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช้ชำระแต่ดอกเบี้ยไปตลอด เงินบางส่วนจะต้องถูกตัดเงินต้นด้วย ดังนั้นการดำเนินการที่เป็นไปตามประกาศตรงนั้น เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด โดยจากการสุ่มตัวอย่าง พบว่ามีบางสถาบันดำเนินการผิดไปจากประกาศดังกล่าว จึงขอยืนยันว่าที่สุดแล้วทุกแห่งจะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง