ล่วงผ่านพ้นมา 2 ปี จนเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว
สำหรับ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ที่ “ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย” ประกาศใช้ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร พร้อมกับออกคำสั่งให้กองทัพรัสเซีย กรีธาพลยกข้าพรมแดนเข้าไปรุกรานยูเครน ด้วยข้ออ้างว่า เพื่อปลดปล่อยยูเครนจากนาซี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565)
ส่งผลให้ไฟสงครามปะทุลุกลามเผาไหม้ยูเครน จนภินท์พังทั้งประเทศ นับตั้งแต่นั้นมาจนถึง ณ ชั่วโมงนี้
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์การสู้รบในสงครามรัสเซีย-ยูเครนข้างต้น หากยูเครน ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากบรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตก ที่นำโดย “สหรัฐอเมริกา” ในการทำสงครามต่อต้านกองทัพรัสเซีย ก็สามารถกล่าวได้ว่า “ยูเครน” อาจพ่ายแพ้ให้แก่ “รัสเซีย” จนถูกผนวกดินแดนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้วก็เป็นได้ เหมือนกับที่หลายแว่นแคว้นในภูมิภาคตะวันออกของยูเครน ถูกรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิเช่น โดเนตสก์ ลูแกนสก์ หรือลูฮันสก์ และไครเมีย เป็นต้น
ทว่า ถึงแม้ยูเครน ได้รับความช่วยเหลือทั้งการเงิน และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จากเหล่าชาติมหาอำนาจตะวันตกอย่างสารพัด แต่ก็ประสบความสูญเสียทั้งในชีวิตของกำลังพลทหาร และประชาชน รวมแล้วนับแสนราย เช่นเดียวกับรัสเซีย ที่ต้องนำกำลังพลเอาชีวิตมาทิ้งในยูเครน จำนวนนับแสนรายเช่นกัน
โดยความช่วยเหลือจาบรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตกที่มีต่อยูเครน เอาเฉพาะสหรัฐฯ ก็ระดมความช่วยเหลือคิดเป็นเงินรวมแล้วนับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่สงครามการสู้รบ ก็ยังคงยืดเยื้อ ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นลงแต่ประการใด
ส่งผลให้ประชาชนคนอเมริกัน เจ้าของภาษี ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อนุมัติเงินงบประมาณเหล่านี้ไปช่วยยูเครน ก็แบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีทั้งเห็นด้วย และเห็นต่าง สนับสนุนและคัดค้าน ต่อการที่รัฐบาลของพวกเขา จัดสรรงบประมาณเงินที่มาจากภาษีของพวกเขาเอาไปช่วยเหลือยูเครน ซึ่งมีรายงานกระเส็นกระสายออกมาว่า มีการทุจริตคอร์รัปชันภายในรัฐบาลยูเครน และภายในกองทัพยูเครนอีกต่างหากด้วย อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สงครามการสู้รบยืดเยื้อมาตราบเท่าทุกวันนี้
ไม่เว้นแม้กระทั่งในเหล่านักการเมืองของสองฟากฝั่งพรรคการเมืองสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง พรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน ก็มีทั้งสนับสนุน และคัดค้าน ในการประชุมพิจารณาร่างงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนแต่ละครั้ง ซึ่งล่าสุด ร่างงบประมาณจำนวนมหาศาลถึง 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ต้องเผชิญกับกระแสต้านของบรรดาพลพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรส หรือรัฐสภาสหรัฐฯ แม้ว่าได้ผ่านในชั้นการพิจารณาจากสภาซีเนต หรือสภาสูง หรือวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ตาม
ในการสำรวจความคิดเห็นครั้งล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น อันเป็นช่วงที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน กำลังจะผ่านพ้น 2ปี และย่างเข้าสู่ปีที่ 3 นี้ ก็ได้เริ่มกระแสเสียงเรียกร้องให้ยุติสงครามดังกล่าวมากยิ่งขึ้น ยิ่งกว่าในช่วงที่แล้วๆ มา
โดย “สถาบันควินซี” ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมอง หรือถังความคิด ธิงค์แทงค์ ด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ อันมีที่ตั้งองค์กรอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ร่วมกับ “แฮร์ริส” บริษัทด้านการวิจัยและวิเคราะห์ทางการตลาด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐฯ เช่นกัน ได้สำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน เกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ ที่มีต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ผลการสำรวจความคิดเห็น ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามจำนวนมากถึงร้อยละ 71 ระบุว่า สนับสนุนให้สหรัฐฯ ได้แสดงบทบาททางการทูตเพื่อจบสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่บังเกิดขึ้น
โดยกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ ยังระบุด้วยว่า สนับสนุนให้สหรัฐฯ ช่วยเป็นตัวกลางการเจรจาเพื่อให้สงครามข้างต้นยุติลง
ตัวเลขของกลุ่มตัวอย่างข้างต้น ก็ถือเป็น 7 ใน 10 หรือเกือบๆ 3 ใน 4 เลยทีเดียว ที่สนับสนุนต่อแนวทางดังกล่าว
พร้อมกันนี้ ทาง “สถาบันควินซี” ยังสำรวจพบว่า ร้อยละ 66 ของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม หรือเกือบๆ 2 ใน 3 ก็แสดงความสนับสนุนให้สหรัฐฯ และยูเครน ดำเนินการเจรจาแบบโดยตรงกับรัสเซีย เพื่อนำไปสู่การยุติสงคราม
จำนวนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 66 ข้างต้น ยังแสดงความจำนงว่า มีความต้องการให้ทั้ง 3 ฝ่าย คือ สหรัฐฯ และยูเครน รวมถึงรัสเซีย ได้ประนีประนอมความขัดแย้งต่างๆ ที่นำไปสู่การทำสงครามระหว่างกันด้วย
ทาง “สถาบันควินซี” ยังเปิดเผยด้วยว่า ร้อยละ 69 หรือกว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม สนับสนุนให้สหรัฐฯ เรียกร้อง กระตุ้นเตือนต่อยูเครน ให้หันมาเจรจาทางการทูตกับรัสเซีย แทนที่จะส่งเสริมการสู้รบในสงคราม
ทั้งนี้ ในกลุ่มตัวอย่างจำนวนร้อยละ 69 ข้างต้น ก็ยังเชื่อมั่นด้วยว่า มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะสามารถยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผ่านกระบวนการเจรจาทางการทูต
ในกลุ่มตัวอย่างที่ทั้งสองสำนักโพลล์สำรวจมา จำนวนร้อยละ 36 ยังระบุว่า สหรัฐฯ ต้องยกระดับการให้ความสนใจ พร้อมทั้งเพิ่มระดับความพยายามในการใช้การทูต เพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนให้ได้
ส่วนความคิดเห็นที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับแนวทางการทูตข้างต้น ปรากฏว่า มีตัวเลขลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนๆ อย่างต่อเนื่อง
โดยร้อยละ13 ของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่า สหรัฐฯ ควรถอนตัวออกมา ไม่เกี่ยวข้องด้วยประการทั้งปวงกับสงครามรัสเซีย – ยูเครน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือทางการทหาร และการส่งเสริมทางการทูต เพื่อยุติสงคราม
ขณะที่ ผู้ที่ยังเห็นว่า การยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีหนทางเดียว คือ การช่วยเหลือยูเครนด้านงบประมาณและอาวุธยุทโธปกรณ์ จนสามารถเอาชนะรัสเซียในทางทหารได้นั้น มีจำนวนเหลือเพียงร้อยละ 23 ทั้งนี้ ผลการสำรวจครั้งล่าสุดที่ออก ก็สร้างความหวังให้แก่ชาวอเมริกันว่า จะส่งเสียงไปถึงรัฐบาล ทางการสหรัฐฯ ตอบรับกับผลสำรวจดังกล่าว