คณะกรรมาธิการศึกษาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ต่อการ “กำหนดทิศทางและรับฟังความคิดเห็น นำไปสู่การจัดทำกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ”

วันที่ 24 ก.พ. 2567 ที่หอประชุมโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม อ.เมือง จ.เชียงราย นายโสภณ ชารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาธิการในสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานกล่าวเปิดประชุม สัมมนาและการอภิปรายกลุ่ม “การกำหนดทิศทางและรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การจัดทำกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ” ให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย บุคลากร สังกัด อปท. ผู้บริหารและบุคลากรสังกัดโรงเรียน สอศ. บุคลากรสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน บุคลากรสังกัดสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้สงฆ์จากโรงเรียนพระปริยัติธรรม บุคลากร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย โดยมี นายกวิน เสือสกุล รองศึกษาธิการภาค 15 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 16 กล่าวต้อนรับและรายงานวัตถุประสงค์การจัดประชุมสัมมนาฯ 

นายกวิน เสือสกุล รองศึกษาธิการภาค 15 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 16 กล่าวว่า เนื่องจากการศึกษามีความเกี่ยวข้องและสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาคนของประเทศให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรมมีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตอย่างสมดุล มีทักษะจำเป็นและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข มีภาวะผู้นำ และการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีความคิดสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ ยึดประโยชน์ส่วนรวม เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ พึ่งพาตนเองได้ และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ระบบการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จะต้องส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ทุกสภาพ ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในอนาคตได้อย่างมีคุณภาพ คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเน้นการเรียนรู้ ที่เกิดจากความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง ได้ลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรงและต่อยอดความรู้นั้นได้ด้วยตนเอง โดยจัดการเรียนรู้ผ่านบริบทความเป็นจริง และสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เข้าถึงสื่อเทคโนโลยี เครื่องมือ และแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษาของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป 

ทางด้าน นายโสภณ ชารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาธิการในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ โดยการรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู ผู้นำท้องถิ่น นักวิชการ นักศึกษา มาร่วมระดมความคิดในการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้สำเร็จ ในการจัดทำกฏหมายที่เป็นปัญหาในขั้นวิกฤติ คณะกรรมาธิการศึกษาธิการในสภาผู้แทนราษฎร เล็งเห็นว่า วิกฤติการศึกษาครั้งนี้ จะแก้ได้ต้องแก้ทุกองคาพยพ แก้ทั้งระบบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติถือเป็นแม่บท จึงอยากให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาโดยเร็ว โดยได้รับความร่วมมือจากทุกพรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านผนึกกำลังเรื่องทำกฏหมาย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นภารกิจสำคัญ อยากให้สังคมรับทราบว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติจะสำเร็จได้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

สำหรับการสัมมนา “แนวทางการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21” จัดขึ้นในรูปแบบการเสวนา อภิปรายและบรรยาย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริหารการศึกษา ครู กรรมการสถานศึกษานักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมทั้งระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เพื่อนำข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ที่มีความหลากหลายของผู้เข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษาในศตวรรษ ที่ 21 รวบรวมเป็นข้อเสนอแนะไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการศึกษา ประกอบด้วย ดร.เทอดชาติ ชัยพงษ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 2 นายปารมี ไวจงเจริญ ที่ปรึกษาและกรรมาธิการการศึกษา ผศ. ดร.ศรชัย มุงไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย และ ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดเชียงราย ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ในครั้งนี้.