นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) โดยมาตรการดังกล่าวอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งาน โดยไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง ในกรณีซื้อรถที่ผลิต/ประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า และในกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568 เชื่อว่าจะเป็นแรงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่จากรถน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น มองว่าอาจจะมากกว่า 10,000 คันตามที่ตั้งเป้าไว้
เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มส่งออกสินค้ากำลังเผชิญกับมาตรการ CBAM ซึ่งเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ EU เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าว ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 31 ธันวาคม 2568 จะต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในอนาคตอาจเพิ่มกลุ่มสินค้าอื่นๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกาก็เตรียมจะใช้มาตรการเดียวกันในปี 2569 และยังมีอีกหลายประเทศที่มีแนวโน้มจะบังคับใช้มาตรการดังกล่าว อาทิ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่มส่งออกสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอน ต้องเร่งเตรียมความพร้อมและปรับตัวรองรับการดำเนินมาตราการ
นายคณิสสร์ กล่าวอีกว่า มาตรการ CBAM เป็นแรงกดดันทางอ้อมให้ผู้ผลิตสินค้าต้องหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิต ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และต้องเตรียมระบบวัดผลและรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าของตนเองตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการดำเนินการตามมาตรการ CBAM ของ EU ซึ่งมองว่าการปรับกระบวนการขนส่งสินค้าโดยนำยานยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% มาใช้ในการขนส่งเป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยผู้ประกอบการได้ เพราะจากสถิติการขนส่งทางถนนปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดเฉลี่ยถึงร้อยละ 87 ดังนั้นการนำรถพลังงานสะอาดมาใช้ทดแทนรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นต้นเหตุของมลพิษและฝุ่น PM 2.5 ได้เป็นอย่างดี
"เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีและบอร์ดอีวีว่าการจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Hub EV อาเซียน รวมถึงช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน จะต้องสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในทุกประเภท ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่ง รถกระบะ และรถจักรยานยนต์เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสนใจและหันมาทยอยเปลี่ยนใช้รถพลังงานไฟฟ้า 100% ในการขนส่งเป็นอย่างมาก อาทิ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) ที่ใช้รถหัวลากไฟฟ้าเพื่อการขนส่งวัตถุดิบจากแหลมฉบังไปยังโรงงานทิปโก้แอสฟัลท์ จ.นครราชสีมา บริษัทนิปปอน เอ็กซ์เพรส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เปลี่ยนมาใช้รถหัวลากในการขนส่งสินค้าทุกรูปแบบ และบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ที่หันมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้าในการขนส่งเครื่องดื่มและสินค้ากลุ่ม FMCG ซึ่งมองว่ามาตรการหนุนใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์นอกจากจะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอนแล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะในภาคการส่งออกอีกด้วย"