MTW ประกาศผลงานปี 66 กำไรทะยานอยู่ที่ 65.30 ลบ. พุ่งกว่า 195% รายได้อยู่ที่ 527 ลบ. รับโรงงานใหม่กดปุ่มสตาร์ทกำลังการผลิต หนุนแผนผลิตและส่งมอบรถมอเตอร์ไซค์ EV พุ่งขึ้นรับดีมานด์ผู้บริโภค ขณะที่ นโยบายภาครัฐส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเอื้อกลุ่มบริษัทได้ประโยชน์ไปอีกไม่น้อยกว่า 3-5 ปี เดินหน้ารับอานิสงส์ประเทศไทยสู่ EV Hub ด้านที่ประชุมบอร์ดมีมติไฟเขียวแจกฟรี วอร์แรนต์ 2:1 ให้ผู้ถือหุ้นเดิม อายุ 1 ปี ย้ำสภาพคล่องแกร่งและมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง
นายกฤตเมธ ตั้งพิชญโพธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมคทูวิน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTW เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานประจำปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ จำนวน 65.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.20 ล้านบาท หรือเติบโต 195.48% จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 22.10 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนกำไรสุทธิเท่ากับ 12.39% และ 8.85% ตามลำดับ สำหรับรายได้จากการขายของกลุ่มบริษัท อยู่ที่ 527.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 277.38 ล้านบาท หรือ 111% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการมุ่งเน้นธุรกิจรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่ 471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 313 ล้านบาท หรือ 199% อีกทั้ง เป็นธุรกิจดาวรุ่งที่เข้ามาสนับสนุนอัตรากำไรของกลุ่มบริษัทได้อย่างแข็งแกร่ง รับกระแสความนิยมรถจักรยานยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้น และโครงการภาครัฐสนับสนุนจากการผลักดันประเทศไทยกำลังพัฒนาเป็นศูนย์กลาง EV Hub ระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ภาพรวมการดำเนินธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า บริหารงานภายใต้บริษัทย่อย คือ บริษัท เดโก้ กรีน เอนเนอร์จี จำกัด (DECO) เป็นธุรกิจที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมนโยบายส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ โดยสิทธิประโยชน์ที่กลุ่มบริษัทได้รับ คือ เงินอุดหนุนจำนวน 18,000 บาทต่อคัน กระตุ้นกำลังซื้อให้ผู้บริโภคซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง จัดจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้า DECO ซึ่งบริษัทมีการจำหน่ายหลักผ่านตัวแทนจำหน่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยัจจุบันมีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ขึ้นทะเบียน 20 รุ่น และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐจำนวน 9 รุ่น มีช่องทางการจำหน่ายผ่านตัวแทน และสาขามากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นทั้งศูนย์จำหน่าย และศูนย์บริการหลังการขาย
ขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในปี 2566 มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 56 ล้านบาท ปรับตัวลดลงราว 39% เนื่องจากผลกระทบการส่งสินค้าในกลุ่มลูกค้าหลัก เช่น พม่า ในช่วงปลายปีด่านปิด ทำให้ชะลอการจัดส่งสินค้าในช่วงดังกล่าว และค่าเงินบาทส่งผลให้ลูกค้าแอฟริกาซึ่งปกติจะเดินทางมาสั่งสินค้าในประเทศไทยหดตัวลง ทั้งนี้ MTW จัดจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าซึ่งจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัท ได้แก่ "Anoko" "Noble" "Over Bick'C" และ "S Sport" และตราสินค้าอื่นๆ เช่น "Super Kool" ลักษณะการจำหน่ายสินค้าของบริษัทแบ่งเป็นการขายปลีก และขายส่ง โดยการขายในราคาปลีกจะเป็นการขายผ่านช่องทางหน้าร้านสาขาทั้ง 2 สาขาของบริษัทเท่านั้น ส่วนการขายส่งสามารถขายได้ทั้งผ่านหน้าร้านสาขาและโรงงาน ซึ่งปัจจุบันหน้าร้านสาขาของบริษัทมีทั้งหมด 2 สาขา ซึ่งอยู่ที่อาคาร โบ๊เบ๊ ทาวเวอร์ เป็นทำเลที่ตั้งอยู่ในแหล่งที่เป็นแหล่งซื้อขายปลีก-ส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปหลักของประเทศไทย และเป็นแหล่งซื้อ-ขายของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัท
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 1 (MTW-W1) จำนวนไม่เกิน 337,000,000 หน่วย เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) โดยไม่คิดมูลค่า ในอัตราส่วน 2 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ ทั้งนี้หากมีเศษของใบสำคัญแสดงสิทธิเกิดขึ้นจากการคำนวณให้ปัดเศษดังกล่าวทิ้ง ทั้งนี้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 1 (MTW-W1) มีกำหนดอายุ 1 ปี นับจากวันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ และมีราคาใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่ 1.00 บาท รวมทั้ง อนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 1 (MTW-W1) ดังกล่าว และยังไม่มีแผนเพิ่มทุนเพื่อลงทุนรอบใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ขยายโรงงานเพื่อรองรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในธุรกิจจักรยานยนต์เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ บริษัทฯ เตรียมจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2567 ในวันที่ 9 เมษายนนี้ เวลา 10.00 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting)
สำหรับแผนการลงทุนในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ที่เปิดเผยไปก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้ทบทวนข้อตกลงในการจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ร่วมกับพันธมิตร โดยยกเลิกแผนดังกล่าวออกไป ด้วยการพิจารณาถึงเงื่อนไขและประโยชน์ที่บริษัทฯ จะได้รับสูงสุด ขณะที่คุณกฤตเมธ พร้อมหุ้นส่วนจากต่างประเทศ กลับมาเดินหน้าทำโรงงานผลิตแบตเตอรี่เอง หลังจากที่ยกเลิกการร่วมทุนไป ซึ่งคาดว่าจะเกิดประโยชน์กับเดโก้เต็มๆ
อย่างไรก็ดี ในปี 2567 กลุ่มบริษัทได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ BOI ระยะเวลา 3 ปี และเพิ่มสูงสุดที่ 5 ปี หากมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ รวมทั้ง ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วน ซึ่งกลุ่มบริษัทได้ 5 ชิ้นส่วน จากทั้งหมด 9 ชิ้นส่วน ทำให้ในปี 2567 ภาพรวมการเติบโตของ MTW จะแข็งแกร่งต่อเนื่องและเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ควบคู่การควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ในปี 2566 เป็นอีกก้าวความสำเร็จของ MTW หลังย้ายเข้าไปโรงงานใหม่ในช่วงเดือนกันยายนปี 2566 ทำให้สามารถรองรับกำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้ถึง 200,000 คัน/ปี อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีก่อน ยังอยู่ในช่วงย้ายโรงงานใหม่ และอบรมพนักงาน จึงทำให้การผลิตและส่งมอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่ได้เห็นความชัดเจนในปีนี้ที่ดีขึ้นตามลำดับ รวมทั้ง การได้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมจากรัฐบาลในการยกเว้นภาษีชิ้นส่วน 5 ชนิด ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และนำส่งไปรับรองที่สถาบันยานยนต์ จะสนับสนุนต้นทุนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และอยู่ระหว่างการขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567 - 2570) ของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV)” นายกฤตเมธ กล่าว