สมกับคำคมที่ผู้รู้ท่านว่า “ตำแหน่งอยู่ไม่นาน ตำนานอยู่ไม่ลืม หรือตำนานอยู่ตลอดไป” โดยแท้ ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา” ประเทศที่ได้ชื่อมหาอำนาจแห่งยุค โดยประเทศสหรัฐอเมริกาแห่งนี้ วาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สมัยละ หรือคราวละ 4 ปีเท่านั้น และประธานาธิบดีแต่ละท่าน ก็ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ดังนั้น การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ รวมแล้วก็เพียง 8 ปีเท่านั้น หากว่ากันตามตัวบทที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมที่ 22 ยกเว้นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บางท่านที่ดำรงตำแหน่งมากกว่า 8 ปี เพราะยังไม่มีแก้ไขในบทบัญญัติเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญ เช่น “แฟรงคลิน ดี.รูสเวลท์” ที่ดำรงตำแหน่งนานถึง 12 ปี 39 วัน อย่างไรก็ตาม มีประธานาธิบดีบางท่านถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง ทำให้รองประธานาธิบดีขึ้นมาบริหารแทน ได้แก่ กรณีของ “อับราฮัม ลินคอล์น” และ “จอห์น เอฟ. เคนเนดี” เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่สามารถก่อ “รากงอก” แบบลากยาว เหมือนกับผู้นำประเทศในหลายๆ ประเทศได้เช่นนี้ จึงทำให้สหรัฐฯ มีประธานาธิบดีปกครองประเทศจำนวนมากถึง 46 คน นับตั้งแต่ก่อร่างสร้างประเทศ และมีประธานาธิบดีคนแรก เมื่อปี 1789 (พ.ศ. 2332) หรือตลอดระยะเวลา 235 ปีที่ผ่านมา

โดยประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ คือ “จอร์จ วอชิงตัน” ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาของประเทศสหรัฐอเมริกา” อีกด้วย เริ่มดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1789 ส่วนประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ “นายโจ ไบเดน” ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) ซึ่งหากเขาไม่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย เขาก็จะหมดวาระไปในช่วงปลายเดือนมกราคม 2025 (พ.ศ. 2568) เมื่อประเทศมีทั้งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และอดีตประธานาธิบดีทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และทั้งที่ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้วนั้น ก็ทำให้ทางเหล่านักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นในหมู่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ตามสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ด้วยกันว่า คิดเห็นอย่างไรต่อประธานาธิบดี และอดีตประธานาธิบดีทั้งที่ยังมีชีวิต และที่ถึงอสัญกรรมไปแล้ว ภายใต้ชื่อ “โครงการความยิ่งใหญ่ของประธานาธิบดี (Presidential Greatness Project)” ซึ่งในการสำรวจความคิดเห็นในปีนี้ ก็ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่เหล่านักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ได้จัดทำขึ้น ผลการสำรวจฯ ปรากฏว่า “อับราฮัม ลินคอล์น” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงที่ประเทศเกิด “สงครามกลางเมือง” ระหว่างกลุ่มรัฐฝ่ายเหนือกับกลุ่มรัฐฝ่ายใต้ เมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1860 นั้น ยังคงครองอันดับที่ 1 ในความเป็นประธานาธิบดียอดนิยมของเหล่านักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นอันดับ 1 หรือแชมป์ 3 สมัยติดต่อกัน โดยคะแนนที่ได้จากการสำรวจในครั้งนี้ คือ 93.87

ส่วนอันดับที่ 2 ตกเป็นของ “แฟรงคลิน ดี.รูสเวลท์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงที่ประเทศเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ มีบทบาทสำคัญทำให้สหรัฐฯ มีชัยชนะในสงครามดังกล่าว การพัฒนาระเบิดปรมาณู รวมไปถึงการวางรากฐานขององค์การระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือ “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” อันเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มาแทนที่ “องค์การสันนิบาติชาติ” ที่ถูกยุบไป โดย “รูสเวลท์” ได้คะแนนจากการสำรวจครั้งนี้ 90.83 ทำให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 จากครั้งที่แล้วที่ได้อันดับ 3 เบียด “จอร์จ วอชิงตัน” ที่ได้อันดับ 2 จากการสำรวจครั้งก่อนหน้า ขณะที่ อันดับ 3 ในปีนี้ คือ “จอร์จ วอชิงตัน” ซึ่งหล่นจากอันดับ 2 ในการสำรวจครั้งก่อน โดยครั้งนี้ผู้ที่ได้ชื่อว่า “บิดาแห่งสหรัฐอเมริกา” ได้คะแนน 90.32

 

อันดับ 4 ได้แก่ “ทีโอดอร์ รูสเวลท์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อช่วงปี 1901 – 1909 (พ.ศ. 2444 - 2452)โดยเขายังคงรั้งอันดับนี้เป็นสมัยที่ 3 ได้คะแนน 78.58 ด้วยผลงานที่ยังคงติดตาตรึงใจ ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มโครงการขุดคลองปานามา การช่วยยุติ “สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น” จนส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 1905 (พ.ศ. 2448)

อันดับ 5 ได้แก่ “โทมัส เจฟเฟอร์สัน” ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐฯ ในการสำรวจครั้งนี้ ได้คะแนนไป 77.53 โดยเจฟเฟอร์สัน ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในบิดาของผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ อีกด้วย จากการที่เขาเป็นผู้ประพันธ์ “คำประกาศอิสรภาพสหรัฐฯ” ในการก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ แยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร เมื่อ 248 ปีที่แล้ว อันดับ 6 ได้แก่ “แฮร์รี เอส.ทรูแมน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่เป็น “ผู้ อนุมัติคำสั่งใช้ระเบิดปรมาณูโจมตีญี่ปุ่น” และยังเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ช่วยปกป้องกันเกาหลีใต้ จากการถูกรุกรานโดยเกาหลีเหนือ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพแดงชาตอื่นๆ ใน “สงครามเกาหลี” เอาไว้ได้ โดยในการสำรวจความคิดเห็นเขาได้คะแนน 75.34 รั้งอันดับ 6 เฉกเช่นในการสำรวจครั้งก่อนๆ ทางด้าน อันดับ 7 ตกเป็นของประธานาธิบดีในยุคร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ นั่นคือ “บารัก โอบามา” ผู้ที่ได้ชื่อว่า ประธานาธิบดีที่มาจากคนผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และยังดำรงตำแหน่งได้ถึง 2 สมัยติดต่อกัน ระหว่างปี 2009 – 2017 (พ.ศ. 2552 – 2560) โดยโอบามาได้คะแนนจากการสำรวจครั้งนี้ที่ 73.8 ทำให้อันดับเพิ่มขึ้นจาการสำรวจครั้งก่อนถึง 9 อันดับ จนขึ้นมาอยู่อันดับ 7 ด้วยผลงานการบริหารทั้งในประเทศ เช่น การปฏิรูประบบประกันสุขภาพ และต่างประเทศ เช่น การเปิดเจรจาการทูตกับซีเรียและอิหร่าน ส่วนอีก 3 อันดับต่อๆ มา ตั้งแต่อันดับ 8 ถึง 10 ได้แก่ “ดไวต์ ดี.ไอเซนฮาวร์” ได้อันดับ 8 ด้วยคะแนน 73.73 อันดับ 9 “ลินดอน บี.จอห์นสัน” ได้คะแนน 72.86 และ “จอห์น เอฟ.เคนเนดี” ได้อันดับ 10 ด้วยคะแนน 68.37 ขณะที่ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้อันดับ 14 ด้วยคะแนน 62.66 ส่วนอันดับสุดท้ายไม่ใช่ใครทีไหนอื่น แต่เป็น “โดนัลด์ ทรัมป์” นั่นเอง ได้คะแนนไปเพียง 10.92 ถือเป็นประธานาธิบดียอดยี้ที่สุดของสหรัฐฯ