กรมส่งเสริมสหกรณ์ เตรียมกางแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 เน้นความเข้มแข็งและยั่งยืน ดึงเทคโนโลยี นวัตกรรม ต่อยอดผลิตผลทางการเกษตร สร้างรายได้ ความมั่นคงให้สมาชิกและชุมชน  

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงทิศทางในการพัฒนาระบบสหกรณ์ตาม แผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ สหกรณ์เข้มแข็งและเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ว่า ปัจจุบันสหกรณ์เติบโตขึ้น โดยปี 2566 ที่ผ่านมา สหกรณ์มีสินทรัพย์โดยรวม 4 ล้านล้านบาท เติบโตจากแผนเดิมปี 2565 มีทรัพย์สินอยู่ที่ประมาณ 3.85 ล้านล้านบาท เติบโต 1.5 แสนล้านบาท ทำให้มีเงินในระบบสหกรณ์จำนวนมาก ทั้งสหกรณ์ภาคการเกษตรและนอกภาคเกษตร ซึ่งมีปัจจัยมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่าธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากหรือเงินปันผล แต่ความต้องการของสมาชิกที่จะกู้ยืมไปใช้ประโยชน์เริ่มอิ่มตัว และมีเงินส่วนหนึ่งที่เกินความต้องการของสมาชิก ดังนั้น แผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 จึงเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ โดยใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนด้วย 6 ยุทธศาสตร์ 41 ตัวชี้วัด สิ่งที่สำคัญคือการวางภูมิทัศน์ทางการเงินให้มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น

ส่วนหนึ่งจะเปิดให้สหกรณ์นำเงินไปลงทุนพัฒนาประเทศในด้านอื่นที่มีศักยภาพ เช่น บริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์ให้การรับรอง หรือธนาคารที่เป็นพันธมิตรกับสหกรณ์ โดยมีกรอบกำกับดูแลไม่ให้เกิดความเสียหาย สร้างบุคลากรสหกรณ์ให้มีความรู้ทางด้านการบริหารการเงิน รวมถึงเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย  ตลาดหลักทรัพย์  มาให้ความรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการการเงิน ธรรมาภิบาล เพื่อดูแลทรัพย์สินของสมาชิกสหกรณ์ที่นำเงินมาฝาก และนำเงินมาลงทุน ไม่ให้เกิดความเสียหาย    

ขณะเดียวกันก็สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร นำนวัตกรรมและงานวิจัยที่มีอยู่ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และสนับสนุนอุปกรณ์การตลาด ส่งเสริมการสร้างอาชีพหลักและอาชีพเสริม เพื่อให้มีรายได้เพียงพอและดำรงชีพอยู่ได้ เน้นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า  เช่น น้ำมันรำข้าว ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ หรือมันสำปะหลัง นำไปผลิตเป็น เอทานอล เพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกร เป็นต้น

“ขั้นตอนการผลิตจะเน้น Zero Waste ลดขยะให้เป็นศูนย์ คือใช้หมดทุกส่วน เช่น ข้าวโพด ลดการเผานำวัสดุที่เหลือจากการเกษตร มาหมักเป็นอาหารโค หรือนำฟาง ซัง ข้าวโพด ไปทำปุ๋ยหมัก ลดการเผาและลดมลพิษ ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับโลก”  

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี และนวัตกรรมถือว่ามีบทบาทต่อการพัฒนาสหกรณ์ให้เติบโตและเข้มแข็ง จากเดิมสหกรณ์ทำบัญชีด้วยมือ ปัจจุบันได้นำคอมพิวเตอร์มาสร้างโปรแกรมบัญชี ทำให้สามารถออกงบการเงินแบบเรียลไทม์ได้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60% ของสหกรณ์ทั้งหมด พร้อมกับขับเคลื่อนที่เหลือ 40%  ให้ออกงบการเงินแบบเรียลไทม์ได้ รวมถึงการตรวจสอบสถานะทางการเงินของสมาชิก หรือการตรวจสอบสถานะทางการเงินของสหกรณ์ โดยมีการนำเทคโนโลยี และแอพพลิเคชั่น เข้ามาช่วยเช่นกัน

สำหรับผลผลิตทางการเกษตร มีการนำโรงเรือนอัจฉริยะในการปลูกพืชผักเมืองหนาว ภาคเหนือ มาใช้ในการควบคุมแสง ควบคุมน้ำ ซึ่งเป็นการลงทุนค่อนข้างมาก สหกรณ์ได้สนับสนุนเงินทุน อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับสหกรณ์ รวมถึงเครื่องรีดนมอัตโนมัติ ซึ่งขาดแคลนแรงงาน และมีต้นทุนสูง สหกรณ์ได้สนับสนุนให้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในฟาร์มเกษตรกร  

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวต่อถึง การรับมือกับปัญหาและการเปลี่ยนแปลง ว่า ส่วนหนึ่งต้องให้บุคลากรทันต่อการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นการพัฒนาคนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสู่วงการสหกรณ์น้อย สหกรณ์พยายามสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อให้มาเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ และนำไปใช้กับสหกรณ์ รับมือการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ดีของสหกรณ์ คือระบบสหกรณ์เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่มสมาชิก ไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการแสวงหากำไร

“คนในองค์กรเดียวกันช่วยเหลือกัน คนนี้มีเงินเหลือ คนนี้ขาด แทนที่จะมากู้กันเอง ก็ให้สหกรณ์เป็นตัวกลาง มีผลตอบแทนที่เกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายมีความพอใจ และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข”  

ในโอกาสครบรอบ 108 ปีสหกรณ์ไทย สหกรณ์ก่อตั้งครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2459 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีการเติบโตขึ้นโดยลำดับ สามารถที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างความมั่นคงให้กับสมาชิกสหกรณ์ เป็นระยะเวลา 108 ปี ต่อเนื่องกัน สมาชิกสหกรณ์ทุกท่านเป็นเจ้าของสหกรณ์ จำเป็นต้องร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมใช้บริการกับสหกรณ์ และมุ่งเน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้เพื่อนสมาชิก หรือตัวเราเองที่เป็นสมาชิกสหกรณ์มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ทีดี เดินไปด้วยกันกับสหกรณ์ สหกรณ์จะเข้มแข็งได้ ด้วยกำลังของสมาชิกทั้งหมด โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุน เสริมสร้างการดำเนินงานของสหกรณ์ เพื่อความเข้มแข็งของสหกรณ์ไทย