ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

องค์การสหประชาชาติ ก่อกำเนิดขึ้นมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้ข้อตกลง BRETTON WOOD ซึ่งได้ก่อให้เกิดองค์กร อีกหลายองค์กร แต่หลักๆคือ ธนาคารนานาชาติเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา IBRD ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารโลก WORLD BANK กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์กรการค้าโลก (WTO)

แต่เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นสถาปนิกในการออกแบบองค์กรเหล่านี้รวมทั้งตัวองค์การสหประชาชาติ จึงเป็นการออกแบบที่เอื้อต่อโลกตะวันตก โดยประเทศในโลกที่ 3 หรือประเทศกำลังพัฒนากับประเทศด้อยพัฒนาแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แม้แต่สหภาพโซเวียตที่เป็นฝ่ายผู้ชนะสงคราม ก็ถูกโดดเดี่ยว จีนแผ่นดินใหญ่ก็มิได้เป็นสมาชิกในระยะต้น แต่เข้าเป็นสมาชิกถาวรที่มีอำนาจวีโต้อย่างในปัจจุบันภายหลัง โดยจีน (ไต้หวัน) เป็นตัวแทนชาวจีนทั้งหมดในระยะต้น

อย่างไรก็ตามสหประชาชาติที่ตอนเริ่มต้นมีสมาชิกเพียง 22 ประเทศ และขยายเพิ่มประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มมาอีกเป็น 42 ประเทศ จึงเกิดการจัดทำข้อเสนอเรียกว่า L69 ในช่วงปี 2007-08 โดยมีประเทศจากแอฟริกา คาลิเบียน เอเชีย และกลุ่มหมู่เกาะในแปซิฟิค

ทั้งนี้เมื่อจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นมาก จนปัจจุบันมีสมาชิก 193 รัฐ จึงเป็นเหตุให้สัดส่วนในการเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยิ่งไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนและพื้นที่ของภูมิภาค ตัวอย่างเช่น แอฟริกามีประเทศถึง 54 ประเทศ แต่แทบไม่มีตัวแทนประเทศเหล่านั้นในคณะมนตรีความมั่นคงที่ได้สัดส่วนกัน เมื่อพิจารณาในแง่ภูมิศาสตร์ก็มิได้มีสัดส่วนประจำในคณะมนตรีความมั่นคง ในขณะที่ยุโรปมีตัวแทนมากเกินไป เอเชียมีน้อยเกินไป ขณะที่แอฟริกาและลาตินอเมริกาไม่มีสัดส่วนประจำแต่ใช้หมุนเวียน

อย่างไรก็ตามมีการคัดค้านการเพิ่มจำนวนสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงด้วยเหตุผลว่าจะขาดความศักดิ์สิทธิ์ในเชิงอำนาจ แต่เสนอให้มีการหมุนเวียนในแต่ละภูมิภาค

ปัญหาใหญ่คือ การที่สมาชิกถาวร 5 ชาติ มีสิทธิวีโต้ ญัติใดๆหรือข้อเสนอใดๆของคณะมนตรีความมั่นคง ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีการแบ่งขั้วกันชัดเจน

ทว่าการจะทำการปฏิรูปสหประชาชาติได้ต้องได้รับเสียงสนับสนุนถึง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด 193 รัฐ รวมทั้งสมาชิกถาวรของ UNSC (คณะมนตรีความมั่นคง) นอกจากนี้มีการนำเสนอประเทศ(ปาเลสไตน์เป็นประเทศที่ 194 ซึ่งก็ยังค้างคาอยู่ในกระบวนการ

แม้ว่าที่ผ่านมา UNSC จะประสบความสำเร็จในการเข้าแก้ปัญหา ราวัลดา-บุรุนดี ได้ในระดับหนึ่ง การเข้าแทรกแซงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในยูโกสลาเวีย ขณะที่ก็มีปัญหาอย่างเช่นสงครามเกาหลี ที่รัสเซียทำการวีโต้มติที่จะใช้กำลัง UN ไปจัดการบุกเกาหลีเหนือ หรือในกรณีสงครามฮามาส-อิสราเอล ที่สหรัฐฯใช้อำนาจวีโต้ ทำให้การหยุดยิงเพื่อช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต้องตกไป แม้ว่าจะมีมติของสมัชชาใหญ่ด้วยคะแนนเสียง 153 เสียง และคัดค้าเพียง 10 รัฐ รวมทั้งอิสราเอล

กระนั้นก็ตามสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติในปี 1950 ก็ได้มีมติที่ 377a เพื่อให้ UN สามารถดำเนินการเพื่อสร้างสันติภาพได้ในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคง (UNSC) ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ เช่น การถูกวีโต้ซ้ำซาก

แต่มตินี้ก็มีการใช้เพียง 2 ครั้ง คือ ในสงครามเกาหลีและสงครามคลองสุเอช ในช่วงหลังปี 1950 และปี 1953

ปัญหาจึงกลับมาสู่จุดเดิม คือ การต้องการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคง โดยโฟกัสอยู่ที่การใช้อำนาจวีโต้ของสมาชิกถาวร

นอกจากนี้สหรัฐฯได้โต้แย้งว่า การวีโต้ของคณะมนตรีถาวร 5 ชาติ เป็นทางอยู่รอดของ UN เพราะมันเป็นหลักประกันในอำนาจที่เป็นจริงของมหาอำนาจ หากจะตัดอำนาจวีโต้ออกไปก็ต้องมีมาตรการอื่นมาทดแทน

เรื่องอำนาจการวีโต้นี้เกิดจากการประชุมที่ยัลต้า  ก่อนการพิชิตเยอรมนี คือ UK โดยวันสตันเชอรชิล US โดย แฟรงกิ้น ดี รุสเวล และ USSR โดย โจเซฟ สตาลิน

ตั้งแต่ปี 1992 โซเวียต รัสเซีย ใช้อำนาจวีโต้มากสุด แต่สหรัฐฯในยุคหลังได้ใช้อำนาจวีโต้ เพื่อช่วยอิสราเอลมากสุด และต่อเนื่องติดต่อกันอย่างในกรณี สงครามฮามาส-อิสราเอล แม้แต่มติให้หยุดยิงเพื่อช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

นอกจากนี้สมาชิกไม่ถาวรมีอีก 10 ประเทศ ซึ่งจะหมุนเวียนตามโควตาของแต่ละภูมิภาคก็อาจต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมด้วย

อนึ่งความสำคัญของ UNSC นั่นคือ การจัดการกองกำลังรักษาสันติภาพของ UN เป็นกรณีๆไป เพื่อสร้างสันติภาพ หรือ รักษาความมั่นคง การวีโต้จึงมีความสำคัญที่จะทำให้ UN มีอำนาจในการใช้กำลังไปยุติความขัดแย้ง

ในอดีต UNGA หรือสมัชชาใหญ่มีการใช้อำนาจตามมติ 377a แต่ครั้งนี้กลับไม่ใช้ เพราะไม่มีผู้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดกองกำลังเหมือนสองครั้งแรก มันจึงเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับชะตาชีวิตของชาวปาเลสไตน์ในกาซาที่กำลังถูกเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพื่อให้อิสราเอลได้เข้ายึดครองดินแดนและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน และก๊าซ

นอกจากนี้ปัญหาสมาชิกถาวร 5 ชาติของ UNSC ยังเกิดจากบางชาติที่เติบโตขึ้นมา โดยจัดเป็นมหาอำนาจในระดับหนึ่ง อย่าง อินเดีย ญี่ปุ่น และอิหร่าน ก็สร้างแรงกดดันที่จะยกระดับตนเองขึ้นมาเป็นสมาชิกถาวรใน UNSC บ้าง

ปัญหาเรื่องการปฏิรูป UNSC (คณะมนตรีความมั่นคง) นี้มีมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดสหรัฐฯก็ต้องการปฏิรูปในทำนองบรรจุมาตรการระเบียบโลกตามที่ตนกำหนดเข้าไปเป็นข้อบังคับอีกส่วนหนึ่งของ UNSC ซึ่งแน่นอนย่อมได้รับการคัดค้านจากอีกขั้วอำนาจ ซึ่งก็ถือว่าสหรัฐฯ ต้องการยึดอำนาจให้ตกอยู่ในมือของตน

ในทางตรงข้าม กลุ่มประเทศใต้ SOUTH-SOUTH คือ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนากลับรู้สึกไม่สบายใจที่เห็นว่าที่ตั้งขององค์การสหประชาติไปตั้งอยู่ที่ นิวยอร์ก สหรัฐฯ โดยมีการเรียกร้องให้ย้ายสำนักงานไปอยู่ในประเทศที่เป็นกลาง เพราะเกรงว่าจะถูกครอบงำUN อันเคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การไม่ออกวีซ่าให้ คณะอัยการศาลโลก เข้าสหรัฐฯเพื่อป้องกันไม่ให้มาแถลง พฤติกรรมอาชญากรสงครามของทหารสหรัฐฯในอาฟกานิสถาน

ประเด็นสุดท้าย สหรัฐฯ ถือว่าเป็นประเทศหลักที่จ่ายเงินสนับสนุนการทำงานของ UN หากไม่พึงพอใจในบทบาทองค์กรลูกใดๆของ  UN ก็จะตัดงบประมาณเป็นการประท้วง

ทั้งนี้รวมทั้งการรวมหัวกันของบางประเทศในยุโรปที่รวมกันตัดเงินสนับสนุน UNRWA ของ UN ที่เป็นหน่วยงานบรรเทาทุกข์และการจ้างงานชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่น เพราะถูกอิสราเอลกล่าวหาว่ามีเจ้าหน้าที่บางคนของ UNRWA ไปช่วยฮามาส โดยยังไม่มีการไต่สวนเป็นทางการทำให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซ่า ยิ่งตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบากมากขึ้น ทั้งๆที่ขณะนี้ก็เจียนตายอยู่แล้ว