วันที่  21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงพยาบาลนครพนมได้จัดงานส่งมอบศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง ONE MAN AND THE RIVER  ของ โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นักร้อง นักแสดงชื่อดัง วัย 38 ปี ที่จัดกิจกรรมว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขง  ONE MAN AND THE RIVER  หนึ่งคนว่าย  หลายคนให้ พร้อมคณะทีมงาน ร่วมกับ นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม นายนฤพนธ์  ยุทธเกษมสันต์ ผุ้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ร่วมเปิดศูนย์ ส่งมอบศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง จากความสำเร็จในโครงการ กิจกรรมว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขง  ONE MAN AND THE RIVER  หนึ่งคนว่าย  หลายคนให้ เพื่อสนับสนุนพัฒนาซื้ออุปกรณ์การแพทย์สนับสนุนโรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลแขวงคำม่วน โดยวันนี้ถือเป็นโอกาสดีได้เปิดใช้งานเป็นทางการ ส่งผลดีต่อผู้ป่วยในพื้นที่ สำหรับการสนับสนุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลนครพนม รวมประมาณ 60 ล้านบาท และสนับสนุนโรงพยาบาลแขวงคำม่วนอีก ประมาณ 30 ล้านบาท  

ใน ปัจจุบันมีผู้เดินทางมาเยือนนครพนมเพิ่มขึ้น จากทั้งภาคเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและทางการแพทย์และสุขภาพ ในด้านสาธารณสุข จ.นครพนมได้ดำเนินการรองรับผู้สูงอายุ  มีผู้ป่วยชาว สปป.ลาวข้ามโขงมารับการรักษาจำนวนมาก  จากสถิติในปี 2563 รพ.นครพนมให้บริการผู้ป่วยนอก 320,210 ครั้ง ผู้ป่วยใน 27,992 ครั้ง คาดว่าในปี 2567 นี้ จะมีพี่น้องชาวลาวเดินทางเข้ามารักษาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ยังเป็นปัญหาหลักในพื้นที่

ซึ่งตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นการก่อตั้งศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง โรงพยาบาลนครพนม จะช่วยให้ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome) ในพื้นที่ จ.นครพนม และพื้นที่ข้างเคียงได้อย่างรวดเร็วตามมาตรฐานการรักษา เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและทุพลภาพ ส่วนของโรงพยาบาลนั้น ได้ดำเนินการยื่นเรื่องไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ และระหว่างที่กำลังพัฒนาบุคลากรด้านนี้ให้มากขึ้น ทางโรงพยาบาลนครพนม ได้ขอสนับสนุนทีมศูนย์หัวใจเพื่อแผ่นดินจากโรงพยาบาลสกลนครมาช่วยเหลือ

โดย โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ เปิดเผยว่า ความสำเร็จครั้งนี้ เกิดพวกเราทั้งพี่น้องชาวไทยและพี่น้องชาว สปป.ลาว ได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้ โรงพยาบาลนครพนม และ โรงพยาบาลแขวงคำม่วน โดยมูลค่าสิ่งของที่เราจัดซื้อไปทั้งหมดคิดเป็น 92,500,000 บาท  วันนี้ถือเป็นวันที่ดีมากๆ ที่เรามาร่วมกันเป็นสักขีพยานในการเปิดโครงการเพื่อส่งสอบ “ศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง”(Cath Lab)  ที่ใช้เวลากว่า 6 เดือนในการจัดตั้งศูนย์หัวใจแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่การทำห้องสวนหัวใจใหม่ ที่มีระบบความปลอดภัยจากอันตรายของรังสีต่างๆ รวมถึงการทำระบบไฟฟ้าสำรองที่สามารถตรวจรักษาผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง แม้ระบบไฟฟ้าจะดับทั้งเมืองนครพนม

นอกจากนี้ยังมีการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ ที่จำเป็น สำหรับใช้ในห้องตรวจรักษาแบบครบครัน ได้แก่ เครื่องสวนหัวใจระนาบเดี่ยว ,เครื่องอัลตร้าซาวด์หัวใจ เครื่องอัลตร้าซาวด์ชนิดดูเส้นเลือดหัวใจ เครื่องตรวจวัดการแข็งตัวของเลือด เครื่องปั้มหัวใจไฟฟ้า เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ พร้อมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้เพื่อให้วิเคราะห์การตรวจรักษาได้อย่างแม่นยำ  ปัจจุบันเราทราบว่าทั้งสองโรงพยาบาลได้ใช้เครื่องมือแพทย์ที่ได้รับบริจาคจากโครงการหนึ่งคนว่ายหลายคนให้อย่างคุ้มค่า เช่น รพ.นครพนม มีการใช้งานเครื่องต่างๆ ทุกวัน  ขณะที่ รพ.แขวงคำม่วนได้ใช้ตรวจรักษาคนลาวไปแล้วกว่า 12,000 คน