วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่โรงแรมไอซาน่าโคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา นางสาวสายชล แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักประสานงาน สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) พร้อมเรือโทธีรพล หนองหว้า ผู้อำนวยการฝ่ายตอบสนองรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ สำนักปฏิบัติการ สกมช. และนายราชิ ปาลือชา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดงานประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าโครงการสนับสนุนการจัดตั้ง Sectoral CERT ด้านสาธารณสุขและบรรยายหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ปลอดภัย รูปแบบภัยไซเบอร์และการป้องกันการโจมตีไซเบอร์” และเวทีเสวนาหัวข้อ “Secure Your Digital Transformation Journey with Cybersecurity”

โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนกว่า 150 คน ร่วมกิจกรรมมีการเสวนา หัวข้อ “Secure Your Digital Transformation Journey with Cybersecurity” จากนั้นผู้แทนจากโรงพยาบาลอุดรธานี ได้แชร์ประสบการณ์ถูกโจมตีจาก Ransomware และการรับมือกับสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการสร้างความตระหนักด้านสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของต่อชีวิตของประชาชน สาธารณสุขจะก่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ น.ส.สายชล ผอ.สน.ประสานงาน สกมช. เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในห้วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ถูกภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั้งสิ้น 80,667,100 เหตุการณ์ แยกเป็นการ hacked website (phishing ,defecement,Gambling ,Malware) จำนวน 26,139,981 เหตุการณ์ Fake website 45 เหตุการณ์ จุดอ่อนช่องโหว่ 95 เหตุการณ์ Data Breach 57 เหตุการณ์ Ransomware 7 เหตุการณ์ และอื่นๆ 82 เหตุการณ์ จึงได้จัดตั้งโครงการสนับสนุน Sectoral CERT ด้านสาธารณสุขมาช่วยพัฒนาและเสริมสร้างการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้หน่วยงานสาธารณสุข ปัจจุบันผู้ไม่หวังดีได้พัฒนารูปแบบการโจมตีของภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้สร้างปัญหาอุปสรรคให้กับผู้ปฏิบัติงานและกระทบต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยรวมทั้งเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของข้อมูลประชาชน

ซึ่งได้เสริมสร้างความก้าวหน้าและมุ่งมั่นเสริมสร้างรากฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ในระบบการดูแลสุขภาพ แม้ภาคสาธารณสุขเป็นหนึ่งใน sector ที่อยู่ในแนวหน้าของการบูรณาการทางเทคโนโลยี แต่ไม่ได้รับการยกเว้นจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่โจมตีหลายหน่วยงาน เพียงปีเดียวมากกว่า 4 ล้านครั้ง จึงต้องมีกลไกการป้องกันเชิงรุกการรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างมีประสิทธิผล เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม