วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองจะเดินทางไป เข้ายื่นสำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 คดีพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ฉบับเต็ม ที่รับรองโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง รวมทั้งยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบการรับเงินบริจาคของพรรคภูมิใจไทยจากห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีการถือหุ้นโดยไม่ชอบของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง นอกจากนี้ เห็นว่าอาจเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เข้าข่ายยุบพรรคภูมิใจไทย ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92(3)
นายธีรยุทธ กล่าวว่า การยื่นสำเนาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มให้กับกกต. เพื่อต้องการให้กกต.พิจารณายุบพรรคก้าวไกล ให้เป็นไปตามกรอบของระเบียบกกต. ซึ่งเท่าที่ตนได้ทำการศึกษา มีการวางกรอบระยะเวลา การทำงานในแต่ละขั้นตอนเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งรวมแล้วไม่น่าจะเกิน 90 วัน นับตั้งแต่ที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน ก็สามารถมีคำวินิจฉัยยื่นต่อศาลได้ และเห็นว่า กกต.ไม่จำเป็นที่จะต้องเชิญผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงอีก เพราะทั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น และนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ตลอดจนฝ่ายความมั่นคง ได้ชี้แจงข้อมูลให้กับศาลรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วนแล้ว
ทั้งนี้ ในคำวินิจฉัยนั้นศาลได้ยกเหตุการณ์ที่สมาชิกพรรคก้าวไกลปรากฏตัวทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเยาวชน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน ทั้งนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ในกระบวนการพิจารณาของศาลได้รับข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคง และศาลได้อนุญาตให้ตนได้เข้าไปอ่าน แต่ไม่สามารถทำการคัดถ่ายสำเนาออกมาได้ เพราะเป็นชั้นความลับชั้นความมั่นคงของประเทศ หากหลุดออกมาอาจจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปในทำนองไม่สุจริต ซึ่งข้อมูลดังกล่าวพบว่ามีเหตุการณ์ความเชื่อมโยงที่มากกว่าที่ศาลอ่านและเผยแพร่ผ่านสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่ากกต.ในฐานะเป็นหน่วยงานตรวจสอบสามารถไปขอข้อมูลหลักฐานเหล่านี้จากทางศาลได้ จึงไม่จำเป็นต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาสอบอีก
นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า ตนยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงที่จะมีการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งขณะนี้ยังมีข้อถกเถียงว่าจะให้ผู้ที่เป็นจำเลยในคดีมาตรา 112 ได้รับอานิสงส์ด้วยหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่า มาตรา 112 ไม่ใช่คดีทางการเมือง แต่เป็นคดีที่ศาลได้วางบรรทัดฐานเอาไว้แล้วว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ดังนั้น หากร่างกฎหมายนิรโทษกรรม มีเนื้อหาให้คนที่กระทำความผิดในคดีมาตรา 112 ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย ตนก็จะดำเนินการทุกช่องทางที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ ซึ่งขณะนี้ตนได้ติดตามการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในชั้นกรรมาธิการ เพื่อที่จะดูว่าใครมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร โดยเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาตรวจเทียบ
ส่วนกรณีแกนนำพรรคก้าวไกลแสดงความไม่กังวลว่าหากถูกยุบพรรคจากกรณีดังกล่าว เพราะมีความพร้อมที่จะไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น นายธีรยุทธ กล่าวว่า ตนเห็นว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่การดำเนินกิจการของพรรคก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และการใช้สิทธิ์เสรีภาพในการแสดงแก้ไข มาตรา 112 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้าม แต่ต้องเป็นไปโดยชอบและตามที่กฎหมายกำหนด อย่าใช้สิทธิ์เสรีภาพที่เกินขอบเขต ซึ่งตนจะมีการติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
นายธีรยุทธ กล่าวว่า ส่วนการที่ตนได้ยื่นให้ กกต.ตรวจสอบพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีการระบุชัด ว่านายศักดิ์สยาม ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น และการที่ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวนำเงินมาบริจาคให้กับพรรคภูมิใจไทย ในปี 2565 จำนวน 6 ล้านบาท อาจเป็นเงินที่ได้มาโดยมีเจตนาลวง ซ่อนเร้นหรือนิติกรรมอำพราง ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์มาตรา 187 จึงมีผลให้เงินบริจาคให้กับพรรคภูมิใจไทยจำนวนดังกล่าวอาจเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 72 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่กำหนดห้ามมิให้พรรคการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายธีรยุทธ ระบุว่า ดังนั้นตนจึงขอให้กกต.และนายทะเบียนดำเนินการกับพรรคภูมิใจไทยโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพราะก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยวางบรรทัดฐานไว้ในคำวินิจฉัยที่ 5/63 กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ว่าการกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่จึงมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ตามมาตรา 66 เมื่อการรับบริจาคดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา 66 จึงเป็นการรับบริจาคเงิน โดยรู้หรือควรรู้ว่าใดมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 7 กรณีจึงถือได้ว่าพรรคอนาคตใหม่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 และสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 ทั้งนี้กรณีของพรรคอนาคตใหม่ศาลได้วินิจฉัยแหล่งที่มาของเงินว่าเป็นแหล่งที่มาโดยไม่ชอบ กรณีของนายศักดิ์สยาม ที่ดำเนินการสร้างกระบวนการใช้บุคคลอื่นเป็นเจ้าของเงิน ตามที่ศาลวินิจฉัยแล้วว่ามีการซ่อนเร้นปิดบังการบริจาคเงิน ทั้งที่กฎหมายได้วางแนวไว้ว่าห้ามนิติบุคคลใดที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับรัฐมนตรีอาจนำไปสู่การขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพื่อรักษาไว้เพื่อความสุจริตในการบริหารราชการ
ทั้งนี้ ตนจึงนำกรณีของพรรคอนาคตใหม่มาเสนอต่อกกต. เพื่อให้กกต.ดำเนินการตรวจเทียบกับการพิจารณากรณีของนายศักดิ์สยามและพรรคภูมิใจไทย เพื่อให้การดำเนินการของกกต.ไม่ขยายเกินไปกว่าคำวินิจฉัยของศาล จนทำให้เกิดความล่าช้า หรือต้องไปรอคำชี้แจงของหน่วยงานอื่นๆ เช่น การรับงานของหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นเป็นการฮั้วประมูลหรือไม่ และมีการนำเงินที่เกิดจากการกระทำความผิดนั้นมาบริจาคให้พรรคการเมืองหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเกิดความล่าช้า เพราะต้องไปรอคำชี้แจงจากหน่วยงานอื่น แต่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุเอาไว้แล้วว่าแหล่งที่มาของเงิน ที่หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น นำมาบริจาคให้กับพรรคภูมิใจไทยมิชอบด้วยกฎหมายก็เพียงพอที่กกต.จะวินิจฉัยได้แล้ว