สภาคว่ำร่างกฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้า “ครูธัญ” ย้ำต้องคืนเจตจำนงในการระบุเพศให้ LGBTQ  ชี้มีคำอธิบายมากกว่าเรื่องของร่างกาย ด้าน “ธีระชัย” ถาม “เปลี่ยนคำนำหน้า” แล้วจะเป็นธรรมหรือไม่ ยกต่างประเทศกว่าจะผ่านได้ต้องมีเงื่อนไขทำหมัน-พบจิตแพทย์ ลั่นไม่ได้คัดค้านแต่เหมาะสมในบริบทของสังคมหรือไม่ ขณะที่ “อนุสรณ์”ร้องเพลง”กระเทยประท้วง -ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ” กลางสภา

วันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สอง เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ…. ที่เสนอโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระนายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.กาญจบุรี พรรคเพื่อไทย เสนอให้เจ้าของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวถอนร่างพ.ร.บ.ฯ ออกไปก่อน เพื่อรอร่างของภาคประชาชนที่มีแนวคิดคล้ายๆกันที่จะเสนอเข้ามา ถึง 2 ฉบับ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งที่อยูในกลุ่ม LGBTQ และไม่ได้เป็น LGBTQ เพื่อให้กฎหมายเป็นของทุกกลุ่ม แต่นายธัญวัจน์ ยืนยันไม่ถอนร่างฯออก เนื่องจากเห็นว่าเราสามารถสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมได้อยู่แล้ว และเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศรออยู่ เราก็ควรจะต้องผลักดัน และสภาฯก็เปิดกว้างอยู่แล้ว และเรื่องนี้มีการผลักดันกันตั้งแต่ปี 2559 แล้ว

ทำให้ที่ประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต่อ โดยนายธัญวัจน์ ชี้แจงเหตุผลว่า โดยที่รัฐธรรมนูญ รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลยอมได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงส่งผลให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเอกสารของรัฐไทย ยังกำหนดให้ใช้คำนำหน้านามซึ่งถือตามเพศกำเนิดได้แก่ เด็กชาย เด็กหญิง นาย น.ส.และนาง ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้หลากหลายทางเพศอื่นประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การจตัดสินใจกำหนดวิถีทางเทศ และกระทบต่อการดำเนินชีวิต จึงสมควรมีกฎหมายออกมาคุ้มครอง

นายธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า หากเราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้างสังคมใหม่ เราจำเป็นต้องคืนเจตจำนงเรื่องของการระบุเพศให้กับพวกเขา เรื่องเพศเป็นเรื่องสำนึกภายในที่จะบอกตนเองได้ว่าตัวเองเป็นอะไร และอยากจะดำเนินชีวิตอย่างไร ทั้งวิถีและการแสดงออก โดยหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ Self-determination หรือการกำหนดเพศด้วยตัวเอง นี่คือจุดเริ่มที่เราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้าง และมีอีกหลายก้าวสำคัญที่ต้องผลักดัน เพื่อให้สังคมได้โอบรับกับความหลากหลาย เพราะเพศมีคำอธิบายมากกว่าเรื่องของร่างกายและกายภาพ

ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ได้นิยามอัตลักษณ์ทางเพศว่า คือการที่บุคคลหนึ่งรับรู้ต่อตนเองว่าคือใคร และเป็นเพศอะไร ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่สังคมกำหนดหรือไม่ก็ได้ หมายรวมถึงการแสดงออกทางเพศด้วย ทำให้เราจำเป็นต้องออกกฎหมายที่คำนึงถึงเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศไม่ใช่แค่เพศสภาพทางเพศเท่านั้น

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็น โดยนายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายคนแรกว่า การออกกฎหมายใดๆ จะต้องสอดคล้องกับบริบทสังคม หากกฎหมายใดสุดโต่งเกินไปกว่าความต้องการของสังคม อาจจะสร้างปัญหาตามมา ทุกวันนี้การคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกเรื่อง ทุกคน มีความเท่าเทียมกันถือเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย ตนได้อภิปรายสนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะคิดเสมอว่าไม่ว่าใครบนโลกใบนี้ต่างก็มีความรัก ไม่ควรถูกปิดกั้นเพราะเป็นเพียงแค่เกิดมาเป็นเพศใดเพศหนึ่ง คำนำหน้าชื่อไม่ว่าจะเป็นนาย นาง นางสาวที่เป็นการแบ่งเพศตามสภาพมาตั้งแต่กำเนิด ตนก็มีความห่วงใยและความกังวลในการเปลี่ยนได้ตามความสมัครใจ เพราะในต่างประเทศสามารถให้เปลี่ยนคำนำหน้าได้ มีกฎ มีเงื่อนไขยากง่ายแตกต่างกันออกไป

“ผมมองว่าไม่ว่าจะเป็นเพศไหนทุกคนควรมีสิทธิ์ได้เลือกความเป็นตัวเอง หากเขาไม่สะดวกที่ต้องใช้คำนำหน้าหรือไม่ตรงกับเพศสภาพในปัจจุบัน ผมคิดว่าเขาควรมีสิทธิ์เลือกไม่ใส่คำนำหน้านามก็ได้ ใส่เป็นชื่อของเขาเลยก็ได้ เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ต้องไปบังคับเขา ในบางประเทศก็ง่ายบางประเทศยากมาก ที่สำคัญการแปลงเพศค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ขอให้นึกถึงคนที่อยู่ในชนบทยากจนและไม่มีฐานะดีพอที่จะผ่าตัดแปลงเพศโดยสมบูรณ์ มันจะเกิดประเด็นปัญหาสังคมใหม่ขึ้นมา ปัญหาความเท่าเทียม และการเสมอภาค อีกหรือไม่”นายธีระชัย กล่าว

นายธีระชัย กล่าวว่า ยกตัวอย่างประเทศ เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ การเปลี่ยนคำนำหน้าไม่ได้จะเปลี่ยนกันง่าย ต้องพบจิตแพทย์ ต้องทำหมัน เพื่อกันกรณีถูกข่มขืนและตั้งท้อง แล้วประเทศเราจะใช้หลักอะไร ซึ่งถือเป็นข้อกังวลของตน มองว่าจะเป็นต้นเหตุของการออกก่ออาชญากรรม เช่น การเปลี่ยนเพื่อไปหลอก ลวนลามบุคคลอีกเพศ เพื่อบอกว่าเป็นเพศเดียวกัน และเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ตนได้ไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำอุดรธานีกับนายทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ขอเรียนว่าได้ไปเห็นการแบ่งแยกนักโทษชายหญิง ถ้าสมมติว่าเพศทางเลือกได้กระทำผิดซึ่งเขามีจิตใจไม่ตรงกับเพศสภาพ แล้วเขาเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เขาต้องอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังชายหรือหญิง

"ผมเห็นบางคนเพศสภาพอาจจะเป็นชาย แต่จิตใจเขาเป็นผู้หญิง พอเขาเข้าไปในเรือนจำ...คนพวกนี้จะมีสภาพจิตใจอย่างไร เพราะนมก็ยังไม่ได้เอาออก ต้องตัดผมสั้นอีก อย่างนี้เราจะให้เขาได้รับสิทธิ์เลือกหรือไม่ หรือสามารถเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งได้หรือไม่ เพราะจะต้องใช้สถานที่" นายธีระชัย กล่าว

นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ตนเป็นคนคิดมาก แม้สนับสนุนเรื่องแบบนี้มาโดยตลอด  ตนเป็นห่วงว่าแต่ละคนสภาพไม่เหมือนกัน บางคนสามารถเตะก้านคอผู้ชายสลบ อย่างนี้ก็มี แต่เขาสามารถแปลงเพศได้ อรชรอ้อนแอ้น เป็นยังไงท่านประธาน เปลี่ยนแล้วจะมีความเป็นธรรมหรือเปล่า เพราะการจะสร้างความเป็นธรรม เท่าเทียมเราสามารถสร้างมันได้ด้วยตัวเองมากกว่า เราสามารถผลักดันให้ผู้มีอำนาจใช้กลไกทางกฎหมายสร้างความเป็นธรรมให้ได้เป็นรูปธรรมได้ดียิ่งกว่าการเปลี่ยนนายเป็นนาง หรือเปลี่ยนนางเป็นนาย กระผมไม่อยากมองว่าแค่คำนำหน้านาม นาย นาง นางสาว เด็กชาย เด็กหญิง เป็นกรอบกำหนดในชีวิต เพราะไม่ว่าท่านจะเป็นนาย นาง นางสาว หรือมนุษย์ เสมอภาคกันทุกคนท่าน ก็คือคนเหมือนกัน อย่าได้เพียงแต่ว่าคำนำหน้านาม แต่ถ้าหากว่าจะทำกันจริงๆขอให้ละเอียดรอบคอบกว่านี้

“ทุกคนในบ้านในเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน พี่น้องภาคประชาชน ตนนั่งอ่านตั้งแต่เช้า ตนเชื่อว่า ถ้าคนเรารักกันจริง คำนำหน้านามนั้นไม่จำเป็น เป็นกำแพงปิดกั้นความรัก ถ้าเราเอานาย นาง นางสาวเป็นอุปสรรค เพื่อปิดกั้นความรัก ตนมองว่ามันไม่ใช่ความรัก สุดท้ายขอถามว่าสังคมควรเปลี่ยนเพื่อเรา หรือเราควรเปลี่ยนเพื่อสังคมกันแน่ แล้วอะไรก็จะดีกว่ากัน เหมาะสมในบริบทของสังคมทุกวันนี้ ตนไม่ได้คัดค้าน ไม่ได้เห็นด้วย แต่กลัวว่าจะมีปัญหาเท่านั้น”นายธีระชัย กล่าว

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีหลายเรื่องที่ให้ความเป็นธรรม เช่น นิติสินสมรส และเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่นๆ แต่พอมาดูเรื่องของคำเปลี่ยนคำนำหน้านาม เราต้องรับฟังให้รอบ อย่าเหาะเกินลงกา ไปไกลชนิดที่ว่าสุดลิ่มทิ่มประตู และจะทำให้สร้างปัญหาต่อ ก่อปัญหาใหม่ และการที่เราจะภาคภูมิใจหรือไม่ภาคภูมิใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้คำนำหน้าว่าอะไร คงไม่ใช่ว่าปกติเป็นคนหม่นหมองตรอมเศร้า ผลไม้ที่ชอบคือระกำ ปลูกดอกไม้ก็ปลูกดอกลั่นทม ฉันจะปลูกหญ้า เมื่อปลูกหญ้าก็ตรอมใจ เป็นคนประเภท ระทม ระกำตรอมใจ แต่พอเปลี่ยนคำนำหน้านามแล้วจะลุกมาแฮปปี้ชนิดที่ว่าเปลี่ยนปุ๊บแฮปปี้ปั๊บ คงไม่ใช่เช่นนั้น แต่ความภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือเป็นหญิง หรือจะเป็น LGBTQ เราสามารถภาคภูมิใจได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนายอนุสรณ์ ได้ร้องเพลง “ กะเทยประท้วง”ของ ปอยฝ้าย มาลัยพร กลางสภาว่า“ฉันภูมิใจ ภูมิใจที่เป็นกะเทย ไผสิเว้าเยาะเย้ย กะส่างเถาะเว้ย กะส่างเถาะเว้ยปากคน “ พร้อมระบุว่าเป็นกะเทยก็ภาคภูมิใจได้แล้ววันนี้คำว่ากะเทย คำที่บ่งบอกถึงเพศสภาพที่ 3,4,5 ไม่ใช่สิ่งที่จะไปบูลลี่กัน ไม่ใช่คำที่ฟังแล้วถูกประณามหยามหมิ่น สังคมเราเป็นประเทศที่เปิดรับและเปิดกว้างกับคำหลากหลายทางเพศ  ดังนั้นสิ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ เราจะเป็นชายจริงหญิงแท้ LGBTQ เราควรจะภาคภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น

“ผมเชื่อมั่นว่าเราจะใช้คำนำหน้าว่าอย่างไรเราก็ภาคภูมิใจได้ก่อนที่เราจะเรียกร้องให้คนอื่นเคารพเรา เราควรเคารพผู้อื่นก่อน ก่อนที่เราจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับตนเอง เราหันไปมองรอบด้านเสียก่อนว่า สิทธิ์ที่เราเรียกร้องนั้นได้ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือไม่ และต้องระมัดระวังผลกระทบ ที่จะตามมาอย่างที่ “ดา เอ็นโดรฟิน”ได้ร้องเพลงไว้ว่า “ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ” ซึ่งหากเปลี่ยนคำนำหน้านาม จะไม่ได้หยุดแค่ที่ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ แต่จะกลายเป็นไม่รู้จักชายไม่รู้จักหญิง ไม่รู้จัก LGBTQ”

ส่วนนายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนขอพูดจากก้นบึ้งของหัวใจจากผู้หญิงข้ามเพศ อายุ 51 ปี ตนเจ็บปวดกับคำนำหน้านามว่า นาย มาตลอดชีวิต นี่เป็นความฝันสูงสุดของตนสิ่งหนึ่งกับการที่จะได้เปลี่ยนคำนำหน้าให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนในปัจจุบัน ตนฝันสิ่งนี้มานาน ความฝันของตนคือการได้เป็นผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งตนได้บรรลุความฝันเป็นผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ไปหลายสิบปีแล้ว แต่ความฝันที่สองที่สูงสุดคือออกจากความจากความเจ็บปวดที่ตนถูกเรียกว่า นาย ทุกครั้ง และใครที่ไม่ได้เป็นบุคคลข้ามเพศไม่มีทางเข้าใจสิ่งนี้ ดังนั้นขอให้สภาฯมาร่วมกันถกเถียงปรับแก้ในจุดที่มีปัญหา และขอวิงวอนจากหัวใจของหญิงข้ามเพศที่รอสิ่งนี้มานานตลอดชีวิต

หลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 152 เสียงไม่เห็นด้วย 256  เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ถือว่าที่ประชุมไม่รับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้