สทนช. เร่งกำกับการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผน หลังมีการจัดสรรน้ำเพิ่มขึ้นจากการช่วยผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำและผลกระทบจากการเพาะปลูกนาปรังเกินแผน ย้ำทุกหน่วยงานให้จัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ โดยต้องมีน้ำอุปโภค บริโภค เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ 

วันที่ 21 ก.พ.67 นายธรรมพงศ์ เนาวบุตร รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ โดยมีนายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. เป็นประธานการประชุม ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า ปัจจุบันการจัดสรรน้ำของอ่างเก็บน้ำหลายแห่ง ในช่วงฤดูแล้งปีนี้ มีการจัดสรรเกินกว่าแผนที่กำหนดไว้ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องระบายน้ำมาช่วยสนับสนุนการผลักดันน้ำเค็มในบริเวณที่ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ เพื่อรักษาคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งสำหรับการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ประกอบกับขณะนี้มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเกินกว่าแผนไปจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูกนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยา สทนช. จึงได้มอบหมายกรมชลประทานเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรไม่ให้มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 เกินแผนที่กำหนด และพิจารณาปรับลดการระบายน้ำให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อกำกับปริมาณการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผน โดยจะมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ คำนึงถึงปริมาณน้ำอุปโภค บริโภค ที่ต้องมีเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้เป็นลำดับแรก 

สำหรับสถานการณ์น้ำเค็มในแม่น้ำ 4 สายหลัก ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามเฝ้าระวังเพื่อควบคุมคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม สทนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวัง ในช่วงระหว่างวันที่ 21 – 25 ก.พ. นี้ มีโอกาสจะเกิดน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำ ซึ่ง สทนช. ร่วมกับกรมชลประทานและการประปานครหลวง ได้เตรียมพร้อมดำเนินการเชิงป้องกัน โดยเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมทั้งเตรียมแผนสำรองในการปฏิบัติการกระแทกลิ่มความเค็ม หรือ Water Hammer Operation และการลดรอบเวรการส่งน้ำ เพื่อลดโอกาสในการเกิดปัญหาคุณภาพน้ำและผลกระทบต่อต่อประชาชนน้อยที่สุด 

นายธรรมพงศ์ กล่าวต่อว่า สทนช. ยังได้ติดตามการแก้ปัญหาในพื้นที่ประสบภัยแล้งใน 3 จังหวัด ซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แก่ อ.เลาขวัญ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ และ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขปัญหา ทั้งการลำเลียงน้ำเข้าช่วยเหลือ การสูบน้ำระยะสั้น เป็นต้น พร้อมกันนี้ สทนช. ยังคงมีการลงพื้นที่ตามแผนเพื่อสำรวจสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ใน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ. เชียงใหม่ พร้อมกำหนดแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ การพัฒนาระบบประปาหมู่บ้าน การขุดลอกลำน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เป็นต้น สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนได้กำชับหน่วยงานในการเตรียมความพร้อมเสนอโครงการ ผ่านระบบ Thai Water Plan ที่จะเปิดระบบอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายนนี้ นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความก้าวหน้าในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 2 สาขา ได้แก่ สาขานครราชสีมาและสาขาเกาะพะงัน โดย กปภ.สาขานครราชสีมา จะมีการหารือเพื่อขอรับการจัดสรรน้ำจากกรมชลประทานเพิ่มเติม และ กปภ.สาขาเกาะพะงัน ซึ่งมีแหล่งน้ำต้นทุนค่อนข้างน้อย จะมีการเร่งซ่อมแซมระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล หรือระบบ R.O. และจะมีการติดตามการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ อย่างใกล้ชิด

“ในที่ประชุมวันนี้ สทนช. ได้เน้นย้ำในเรื่องการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ อย่างรอบคอบให้อยู่ในระดับเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ (Rule Curve) โดยพิจารณาการจัดสรรน้ำให้มีความเหมาะสม รวมทั้งได้มีการปรับเพิ่มแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำบางแห่ง เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นการระบายน้ำที่สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำ และเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ฝนจากสภาวะลานีญาที่มีแนวโน้มจะเริ่มต้นในช่วงฤดูฝนนี้ และคาดว่าจะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย 
4-8%”