นับเป็นสองปัจจัยสำคัญ ที่บรรดานักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างพากันจับตา มิอาจมองข้ามไปได้ ในผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

สำหรับ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” และ “กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง” ซึ่งถึงแม้เป็นจุดสงครามการสู้รบ และการโจมตี ที่เกิดขึ้นเพียงสองจุด คือ “ยูเครน” ประเทศที่กลายเป็นสมรภูมิรบ และ “ทะเลแดง” ตรงบริเวณช่องแคบนอกชายฝั่งเยเมน แต่ต้องยอมรับว่า ส่งผลกระทบ สร้างพิษภัยอย่างร้ายเหลือ ที่นอกเหนือจากความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนแล้ว ก็ยังมีผลลัพธ์ด้านลบต่อเศรษฐกิจหลายภูมิภาคด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุโรปกับเอเชีย อันเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวกับสมรภูมิรบและปฏิบัติการโจมตี

โดยสงครามการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้น ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ก็จะครบ 2 ปีเต็มแล้ว หลังทางการรัสเซีย กรีธาทัพยกข้ามพรมแดนเข้ามารุกรานยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) เป็นต้นมา ด้วยข้ออ้างของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่แถลงว่า เพื่อปกป้องชาวดอนบาส (เป็นภูมิภาคทางตะวันออกของยูเครน) จากการคุกคามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากรัฐบาลยูเครนที่ดำเนินมานานกว่า 8 ปี

ทั้งนี้ สถานการณ์สู้รบถึง ณ ชั่วโมงนี้ ก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าไฟสงครามจะมอดดับ หรือยุติลงเมื่อไหร่?

ท่ามกลางความภินท์พังของยูเครนที่ได้รับความเสียหายจากการที่ตกเป็นสมรภูมิของสงคราม

ขณะที่ กรณีของกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง ก็เริ่มปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2023 (พ.ศ. 2566) ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงโดยกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ก็ต้องบอกว่า มีมานานหลายครั้งหลายเพลาแล้ว แต่ไม่หนักหนาสาหัส จนกลายเป็นวิกฤติเมื่อกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ซึ่งการโจมตีก็ยังดำเนินมาถึง ณ ปัจจุบันนี้อีกเช่นกัน

โดยที่มาที่ไปของการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงโดยกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนครั้งล่าสุดนั้น ก็เกี่ยวเนื่องกับ “สงครามอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ยืดเยื้อยาวนานอีกสังเวียนหนึ่งเช่นกัน

ทั้งนี้ ทางกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน อ้างเหตุโจมตีข้างต้นว่า จะโจมตีเรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นเรือสินค้าชาติไหน เพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลปิดล้อมและถล่มฉนวนกาซา จนประชาชนในฉนวนกาซา ต้องเผชิญกับวิกฤติความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม

ส่งผลให้เรือสินค้าจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของเหล่าชาติตะวันตก ถูกกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนโจมตี บริษัทเดินเรือทั้งหลายต่างหวาดผวาไปตามๆ กัน

ว่ากันถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อภูมิภาคยุโรปและเอเชีย จากทั้ง “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” กับ “เหตุกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง” นั้น

ตามการเปิดเผยของบรรดานักวิเคราะห์ ตลอดจนบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศในภูมิภาคยุโรปเอง เช่น นายสเตฟาน เซจอร์เน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศของฝรั่งเศส ก็ระบุว่า ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในยุโรป

ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของพลังงานเชื้อเพลิง ทั้งก๊าซ และน้ำมัน ที่บรรดาชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป หรืออียู ล้วนต้องพึ่งพารัสเซีย ซึ่งชาติในอียูเหล่านี้นำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากรัสเซียอย่างมหาศาล จนยากที่จะตัดขาดสะบั้นสัมพันธ์ทิ้งกันไปได้ แม้ว่าจะมีเรื่องการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร หรือแซงก์ชัน ต่อการซื้อการขายด้านพลังงานเชื้อเพลิงนี้ต่อรัสเซียก็ตาม เพื่อลงโทษรัสเซียจากกรณีที่ทำสงครามรุกรานยูเครน

โดยการคว่ำบาตรด้านพลังงานเชื้อเพลิงต่อรัสเซียข้างต้นนั้น ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็น “หอก” ที่กลับมาทิ่มแทงต่อหลายๆ ประเทศในภูมิภาคยุโรปเสียเอง เช่น “ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ” จากผลพวงที่ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น เพราะถูกคว่ำบาตร ซึ่งปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่ว่า ก็ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ ในยุโรป ล้วนจับมือกันพุ่งสูงขึ้น จนผู้คนในยุโรป ต่างกระเป๋าสตางค์ฉีกไปตามๆ กัน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องปุ๋ยที่ส่งออกจากรัสเซีย ประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นแหล่งผลิตปุ๋ยเคมีและส่งออกปุ๋ยเคมีชั้นนำของโลก ก็มีราคาพุ่งสูงขึ้น จนส่งผลต่อบรรดาเกษตรกรในยุโรป ในฐานะลูกค้า เช่นเดียวกับเกษตรกรของประเทศอื่นๆ แทบจะทั่วโลก รวมถึงเอเชียเรา ก็เป็นลูกค้าสั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากรัสเซียด้วยเหมือนกัน

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีเซจอร์เน ยังกล่าวเตือนด้วยว่า นี่ขนาดรัสเซียยังไม่ได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเหนือยูเครน เศรษฐกิจภาคการเกษตรในยุโรปยังได้รับผลกระทบมากมายเช่นนี้ ถ้าหากรัสเซียมีชัยเหนือยูเครน จนสามารถครอบครองและควบคุมยูเครน ประเทศที่ได้ชื่ออุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรประเทศหนึ่งของโลกอย่างเด็ดขาดเมื่อไหร่ ก็หมายถึงว่า เกษตรกรในสหภาพยุโรป หรืออียู ก็จะเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่าที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงความสำคัญของประเทศยูเครนต่อภาคการเกษตรโลก ก็ต้องถือว่า ประเทศแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตธัญพืชที่สำคัญ จนมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าธัญพืชนี้คิดเป็นร้อยละ 30 จากจำนวนการส่งออกธัญพืชทั่วโลกเลยทีเดียว

เจ้าหน้าที่ทหารของยูเครน เข้ามาเก็บกู้เศษซากขีปนาวุธที่กองทัพรัสเซียยิงไปตกนาข้าวสาลีแห่งหนึ่งของยูเครน (Photo : AFP)

ขณะที่ กรณีกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงนั้น ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งของภูมิภาคยุโรป และเอเชียด้วยเช่นกัน

เรือสินค้าที่ถูกกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนโจมตีในทะเลแดง (Photo : AFP)

โดยบริษัทเดินเรือสินค้าชั้นนำหลายแห่งของโลก เช่น เมอร์สก์ เป็นต้น ต้องประกาศระงับการเดินเรือในน่านทะเลแดงเป็นการชั่วคราว หรือไม่ก็เปลี่ยนเส้นทางที่ใช้ทะเลแดงเป็นทางน้ำลัดจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แล่นออกมหาสมุทรอินเดีย ไปยังท่าเรือประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยใช้วิธีการเดินเรือเลียบชายฝั่งจากมหาสมุทรแอตแลนติก อ้อมแหลมกูดโฮป แอฟริกาใต้ เข้าสู่มหาอินเดียแทน ซึ่งจากการเดินเรือโดยใช้เส้นทางอ้อมข้างต้น ก็ทำให้บริษัทเดินเรือสินค้าต่างๆ ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึงเที่ยวละ 400 % หรือ 4 เท่าตัวจากเดิม เมื่อค่าใช้จ่ายในการขนส่งพุ่งกระฉูดสูงขึ้นเช่นนี้ ก็ส่งผลทำให้ราคาสินค้าทะยานพุ่งขึ้นตามมา กระทบเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นๆ เป็นวงกว้างในยุโรปและภูมิภาคเอเชีย