วันที่ 20 ก.พ.67 เวลา 10.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณจุดตัดทางข้ามรางรถไฟ ใกล้กับสถานีรถไฟร้างคลองแขวงกลั่น พื้นที่ ม.7 ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานประกอบด้วย น.ส.นฤมล คงทน หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการขนส่ง จ.ฉะเชิงเทรา นายวันชนะ หร่ายเจริญ ผู้ช่วยหัวหน้า สนง.ปภ. จ.ฉะเชิงเทรา นายภัทรพล พรกัน วิศวกรกำกับการกองบำรุงทางการรถไฟแห่งประเทศไทย เขต จ.ฉะเชิงเทรา น.ส.ภูษณิศา เชื้อปั้น ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อ.เมืองฉะเชิงเทรา

นายเลอสรรค์ ปรางเพ็ชร ผอ.กองช่าง อบจ.ฉะเชิงเทรา นายบำเพ็ญ สินภักดี นายก อบต.บางเตย พร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ได้พากันลงพื้นที่มาตรวจดูความพร้อมในการใช้งานของเครื่องกั้นทางรถไฟที่เพิ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากที่ได้เริ่มมีการลงมือก่อสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 8 ม.ค.67 แต่ยังไม่ได้มีการเปิดใช้งานจริงในขณะนี้ เนื่องจากยังต้องรอการตรวจรับ และส่งมอบงานจากทางฝ่ายผู้รับเหมาให้แก่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่ยังไม่มีกำหนดการที่แน่ชัดว่าจะมีการส่งมอบตรวจรับงานกันเมื่อใด และจะเริ่มเปิดให้ใช้งานจริงได้ในวันใด

แต่มีการคาดการณ์ว่าอาจจะเป็นในช่วงต้นเดือน มี.ค.67 นี้ ท่ามกลางความคาดหวังและดีใจของชาวบ้านในพื้นที่ ว่าจะไม่มีเหตุการร้ายแรงเกิดขึ้นซ้ำซากในพื้นที่อีกแล้ว หลังจากได้เคยเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ กรณีขบวนรถไฟบรรทุกสินค้า (ตู้คอนเทนเนอร์) พุ่งชนรถบัสที่บรรทุกผู้โดยสารเป็นคณะทัวร์บุญกฐิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวโรงงานมาจากในเขต จ.สมุทรปราการ มายังที่วัดบางปลานัก ในพื้นที่ ม.10 ต.บางเตย จนเต็มคันรถมากถึงกว่า 60 คน เมื่อวันที่ 11 ต.ค.63 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวนมากถึง 18 คน และเสียชีวิตในโรงพยาบาล 1 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 43 คน

โดยนายชุมพล ฟักทอง อายุ 68 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.บางเตย กล่าวว่า ดีใจที่ได้เห็นทาง จนท.เข้ามาก่อสร้างเครื่องกั้นทางรถไฟให้แล้ว ทำให้รู้สึกว่าจะปลอดภัยขี้น เนื่องถนนสายนี้มีรถสัญจรผ่านเข้ามามากเพราะเป็นเส้นทางลัดจากถนนสาย 34 บางนา-ตราด ผ่านด้านหลังนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ใน อ.บางปะกง ไปยังถนน 304 สุวินทวงศ์ และมีขบวนรถไฟผ่านมากตลอดทั้งวันด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะรถไฟขนส่งตู้คอนเทนเนอร์และขบวนรถสินค้า  

ส่วนความล่าช้าในการก่อสร้างเครื่องกั้นรางรถไฟ ที่ปล่อยเวลาเนิ่นนานมาถึงกว่า 3 ปี หลังจากเกิดเหตุร้ายแรงครั้งใหญ่ในพื้นที่นั้น ก็เข้าใจว่าเขาต้องมีขั้นตอนของเขาว่าอาจจะมีความยุ่งยากและต้องใช้เวลา แต่ก็ยังดีที่ได้มาแล้ว แม้จะใช้เวลาค่อนข้างนานมากก็ตาม แต่ได้ทำให้ชาวบ้านได้สบายใจขึ้นในเวลาเดินทางผ่านข้ามทางรถไฟว่าจะปลอดภัยมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นแล้ว ก็ยังคงมีเหตุการณ์เล็กๆ เกิดขึ้นอีกประมาณ 2-3 ครั้งตามมาด้วยเช่นเดียวกัน เช่น กรณีขบวนรถไฟเฉี่ยวชนคนเดินเท้า นายชุมพล กล่าว

ขณะที่ นางสวิง  อายุ 55 ปี เจ้าของร้านค้าอาหารตามสั่งริมทางรถไฟ กล่าวว่า เขาเริ่มเข้ามาก่อสร้างเมื่อประมาณกลางเดือน ม.ค.67 โดยช่วงระหว่างที่ชาวบ้านรอคอยเครื่องกั้นรางรถไฟมานาน โดยเฉพาะตนเองที่มีบ้านเรือนเป็นร้านค้าอยู่ติดกับจุดตัดทางข้ามรางรถไฟนั้น ได้พบเห็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดเสียวเกิดขึ้นหลายครั้ง และเกือบจะเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก เนื่องจากผู้ใช้เส้นทางข้ามใช้ความเร็วค่อยข้างมากและไม่ระมัดระวัง หรือดูเส้นทางให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจข้ามออกไป

ทั้งนี้ นางสวิง กล่าว่า เนื่องจากทางรถไฟในบริเวณนี้กว้างมาก โดยมีถึง 3 ราง และมักจะมีรถไฟผ่านมาสวนทางกันตรงบริเวณนี้อยู่เป็นประจำ จึงทำให้คนข้ามไม่ทันได้ระมัดระวังขบวนรถไฟขบวนที่ 2 ที่จะผ่านสวนทางมาภายหลังแบบต่อเนื่องกัน หลังจากได้หยุดรอให้ขบวนแรกผ่านไปแล้ว โดยไม่ทราบว่ายังมีรถไฟอีกขบวนหนึ่งที่กำลังจะสวนทางมา เพราะเขาคิดว่ามีรถไฟผ่านเข้ามาแค่เพียงขบวนเดียว จึงได้ขับรถข้ามไปจนเกือบเกิดอุบัติเหตุหลายครั้งแล้ว และเห็นได้เป็นประจำเกือบทุกวัน

ด้าน น.ส.ภูษณิศา ปลัดอำเภอ และนายเลอสรรค์ ผอ.กองช่าง อบจ.กล่าวว่า วันนี้คณะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่มาดูความพร้อมของเครื่องกั้นทางรถไฟ ว่าจะสามารถจะเปิดให้ใช้งานได้หรือยัง หลังจากได้มีการดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ แต่ยังเหลือในส่วนของงานที่หน่วยงาน อบจ.รับผิดชอบ คือ ลูกระนาดรับเบอร์ซิป สำหรับเตือนผู้ใช้ทางบนผิวจราจรให้ชะลอความเร็ว และป้ายจราจรบางส่วนตามที่ทาง รฟท.ร้องขอมายัง อบจ.ฉะเชิงเทรา

ซึ่งในการสร้างเครื่องกั้นนั้น ได้ใช้เงินงบประมาณจากทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ทราบจำนวนตัวเลขที่แน่ชัด แต่การสร้างพื้นผิวจราจรบนทางข้ามนั้น เป็นโครงการของทาง อบจ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณมาจากทาง สนง.ขนส่ง จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 550,000 บาท