วันที่ 20 ก.พ.67 ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวถึงที่กรณีอธิบดีอัยการระบุว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯที่ได้รับการพักโทษและกลับบ้านมีอาการป่วยขั้นวิกฤตว่า เข้าใจว่าเรื่องอาการป่วยไม่ใช่เหตุผลสำคัญในการได้รับประกันตัว พรรคก้าวไกลสนับสนุนให้คนได้รับสิทธิประกันตัวตามสิทธิพื้นฐาน และควรสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ หากใครไม่ได้รับประกันตัวต้องเป็นกรณียกเว้นจริงๆ เรื่องของคุณทักษิณ ประเด็นก็คือ ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทางกฎหมายมากกว่า การได้รับประกันตัวควรเป็นเรื่องทั่วไปสำหรับทุกคน แม้แต่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า อัยการคงไม่ใช่ผู้มีอำนาจมาวินิจฉัยอาการป่วย เรื่องนี้ต้องว่ากันตามเอกสารทางการแพทย์ ซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับเหตุผลที่ นายทักษิณ ได้รับการพิจารณาพักโทษเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งมีเงื่อนไขกฎเกณฑ์อยู่ในประกาศและระเบียบของกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการพักโทษ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า นายทักษิณ มีเหตุผลในทางการแพทย์ ถือว่าเป็นผู้สูงอายุเกิน 70 ปี ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ตามประกาศของกระทรวงว่าด้วยการพักโทษหรือไม่ นี่คือประเด็นสำคัญ ซึ่งผู้ให้คำตอบเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่อัยการ แต่เป็นแพทย์ กรมราชทัณฑ์ และรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้อนุมัติในกรณีที่ผู้ต้องขังเด็ดขาดได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด คนที่เกี่ยวข้องควรมาเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนว่าคุณทักษิณได้รับสิทธินี้โดยชอบตามกฎหมายหรือไม่
เมื่อถามว่า หากไม่มีการเปิดเผยข้อมูล นายชัยธวัช กล่าวว่า หากรัฐบาล หรือกรมราชทัณฑ์ รัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งครอบครัวของ นายทักษิณ มั่นใจว่าเรื่องนี้ทำถูกต้องแล้ว และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็บอกว่าทำถูกต้องตามกฎหมาย เรื่องการเปิดเผยเอกสารทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ราชทัณฑ์เสนอให้รัฐมนตรีอนุมัติในการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ เรื่องนี้ก็จบ
นายชัยธวัช ยังกล่าวถึงกรณีเมื่อวาน นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็อ้างว่ามีอาการอักเสบที่หัวไหล่ ถ้าพูดออกมาได้ผ่านทางเอกสารทางการแพทย์ก็จบแล้วสังคมจะได้เลิกสงสัย เลิกตั้งตำถาม เพราะกรณีนี้ เป็นการตอกย้ำความรู้สึกของประชาชนจำนวนมากที่รู้สึกว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ปฏิบัติต่อประชาชนทุกคนไม่เท่าเทียมกัน มีการเลือกปฏิบัติ มีบางคนใช้กระบวนการนิติรัฐแบบอภิสิทธิ์ชน ซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง
"ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากออกมาต่อสู้เพราะต้องการให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยแท้จริง ไม่มีกระบวนการ 2 มาตรฐาน นี่เป็นเป้าหมายร่วมกัน วิธีการใดๆ ที่คิดว่าจะเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับ นายทักษิณ ให้ได้รับความชอบธรรม ไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยวิธีการที่ไปตอกย้ำ หรือผลิตซ้ำกระบวนการยุติธรรมที่ 2 มาตรฐานอีก" นายชัยธวัช กล่าว
เมื่อาถามว่ารัฐบาลจะเชิญ นายทักษิณ มาเป็นที่ปรึกษา หรือให้คำแนะนำทางการเมือง เหมาะสมหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของรัฐบาล ซึ่งนายทักษิณ มีสิทธิ์ที่จะให้ความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะเหมือนประชาชนทั่วไป ส่วนจะตั้งเป็นที่ปรึกษาหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณของนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามว่าเรื่องนี้มีข้อมูลเพียงพอที่จะนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ส่วนการกลับมาของ นายทักษิณ จะส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า นายทักษิณ มีความสำคัญ กับพรรคแกนนำรัฐบาลในปัจจุบัน ฝ่ายค้านคิดว่า เฉพาะหน้านอกจากการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่ามีการใช้ดุลยพินิจ ไปตามกฎหมายหรือไม่ ก็คงต้องผลักดันว่าความยุติธรรมไม่ควรมีใครได้รับแค่คนใดคนหนึ่ง แต่ควรมีการอำนวยความยุติธรรม หรือคืนความยุติธรรมให้กับคนทุกคน ทุกฝ่ายที่ต้องคดีความอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง
เมื่อถามว่าสังคมมองว่าการทำหน้าที่ของพรรคก้าวไกลจะตรวจสอบเรื่องนี้ไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ ที่พรรคพยายามผลักดัน นายชัยธวัช ตอบกลับทันทีว่า "เดี๋ยวรอดู ผมบอกแล้วว่าเรื่องนี้ยังไงก็ต้องทำ ในฐานะที่เป็นฝ่ายตรวจสอบ พร้อมกับการผลักดันการนิรโทษกรรมคดีการเมือง เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง เดี๋ยวรอดู อีกทั้งในที่ประชุมสภาฯ สัปดาห์นี้มีหลายเรื่องมาก แต่ก็มีการพูดถึงกรณี นายทักษิณ ทุกวันอยู่แล้ว ยืนยันว่ากรณีของนายทักษิณ ถือว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก กับกรณีของนักโทษทางการเมืองรายอื่น เช่น นายอานนท์ นำภา, อำพล ตั้งนพกุล หรือ 'อากง' เพราะถือเป็นการตอกย้ำความ 2 มาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม
เมื่อถามว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม จะนำเรื่องของนายทักษิณไปพิจารณาด้วยหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจ เพราะเรื่องนายทักษิณ หากจุดมุ่งหมายของการนิรโทษกรรมคือการครอบคลุมคดีความ ที่เกี่ยวข้องหรือมีเหตุจูงใจกับการแสดงออกทางการเมือง ดังนั้น ถ้าคดีของนายทักษิณมีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง ก็ควรรับไว้พิจารณา ทั้งนี้ ไม่ได้ตั้งต้นจากตัวบุคคล ส่วนคดีไหนที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น คดีทุจริต ก็ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายอยู่แล้ว