"สศช." วอน "ธปท." ปรับลดดอกเบี้ย-ผ่อนเกณฑ์จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ ลดภาระหนี้ครัวเรือน-เอสเอ็มอี ระบุ "จีดีพี" ไทย Q4 โต 1.7% ทั้งปี 66 ขยายตัวแค่ 1.9% ปี 67 คาด 2.2-3.2% จากเดิม 3.2%

 เมื่อวันที่ 19 ก.พ.67 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เปิดเผยว่า ปัจจุบันข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ออกมาสะท้อนถึงปัญหาที่อยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยคือหนี้ที่สูงโดยเฉพาะภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งช่วงที่ผ่านมาจะมีสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษเริ่มเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนนมาก โดยที่ผ่านมาทางฝั่งภาครัฐ หรือรัฐบาลได้ใช้มาตรการต่างๆเกือบทั้งหมดแล้ว ทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว มาตรการช่วยเกิดการลงทุนใหม่ๆ ในประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยว เร่งงบประมาณปี 2567 เร่งรัดเบิกจ่ายที่เป็นงบประจำต่อเนื่อง และรัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนต่อเนื่องดังนั้นจึงถึงช่วงเวลาที่มาตรการการเงินจะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจ

 โดยสิ่งที่พิจารณาในช่วงถัดไปอย่างจริงจังคือมาตรการด้านการเงินน่าจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้ โดยเฉพาะการลดภาระครัวเรือนและเอสเอ็มอี อย่างมาตรการอัตราดอกเบี้ยต่างๆต้องพิจารณาจริงจัง ไม่ว่าจะอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนต่างดอกเบี้ย ซึ่งเน้นลงไปภาครัวเรือนและเอสเอ็มอี เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง เพราะตัวธุรกิจขนาดใหญ่ไม่มีปัญหามาก แต่ที่มีปัญหาคือครัวเรือนและเอสเอ็มอี คงต้องทำมาตรการช่วยให้เกิดปรับตัวของส่วนต่างดอกเบี้ยกลุ่มเอสเอ็มอีและครัวเรือน โดยต้องมีมาตรการเข้าไปดูเป็นการเฉพาะด้วยไม่ให้ดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้มีการก่อหนี้มากขึ้น

 ขณะเดียวกัน ต้องดูมาตรการในส่วนของการกำหนดชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำยังควรมีมาตรการผ่อนคลายสินเชื่อบัตรเครดิตต่อไปอีกระยะเนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีหลายธุรกิจใช้บัตรเครดิตทำธุรกิจในช่วงโควิด-19ที่ผ่านมามีมาตรการผ่อนคลายเรื่องนี้ การชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% ของวงเงินใช้จ่าย ซึ่งมาตรการสิ้นสุดแล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค.66 พอมาเดือน ม.ค.67 ขยับเป็น 8% โดยหากดูตัวสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้และปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมทั้งตัวเลข SM ต้องการให้ปรับการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% อีกระยะ เพื่อให้ภาคเอสเอ็มอีที่ใช้สินเชื่อบัตรเครดิต ให้มีกำลังการใช้จ่ายมากขึ้น ถ้าใช้ประกอบกับดอกเบี้ยด้วยเชื่อว่าจะไม่ทำให้ตัว SM ไปเป็น NPL

 โดยในเรื่องมาตรการสินเชื่อบัตรเครดิตต้องทำควบคู่กับการที่ธนาคารพาณิชย์ไปดูกลุ่มที่ใช้การชำระขั้นต่ำเป็นเวลานาน ดึงมาปรับโครงสร้างหนี้ ให้มีภาระดอกเบี้ยลดลงและช่วยให้เกิดการชำระหนี้ดีขึ้น ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาผ่อนที่อยู่อาศัย เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต จึงอยากฝากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาตรงนี้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ขอย้ำว่าถ้ามีการลดดอกเบี้ยคงต้องให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจ เอสเอ็มอี ครัวเรือน ทั้งหมดอยู่ที่การพิจารณาของ ธปท. ในส่วนตัวคงต้องพิจารณาตรงนี้อีกสักนิดนึง ส่วนมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐนั้นอยู่ที่การออกแบบว่าออกมากระตุ้นการผลิตสินค้าและลงทุนให้มากขึ้นได้อย่างไร ขอหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

 นายดนุชา เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ขยายตัว 1.7% โดยในส่วนของบริโภคขยายตัว ส่งออกสินค้าขยายตัว ครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาสที่ 3.4% แต่การบริโภครัฐบาลลดลง 3% ส่วนการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประจำในไตรมาส 4 ปี 2566 งบประจำเพิ่ม 31% ส่วนการลงทุนเอกชนขยายตัว 5% สูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส จากมาตรการเร่งรัดเอกชนเร่งลงทุน และลงทุนนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลให้จีดีพีทั้งปี 2566 ขยายตัว 1.9% ชะลอตัวจากปี 2565 ขยายตัว 2.5% ถ้าดูไตรมาสต่อไตรมาส คล้ายกับปีก่อน โดยเศรษฐกิจไทยหดตัว 0.6% เมื่อเทียบไตรมาส 4 กับไตรมาส 3

 สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.2-3.2 (ค่ากลางการประมาณการที่ 2.7%) จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3.2% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญของการขยายตัวในเศรษฐกิจปี 2567 จากป้จจัยดังต่อไปนี้ 1.การกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก 2.การขยายตัวในกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน 3.การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ3.0 และร้อยละ 3.5 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 2.9 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 - 1.9 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.4 ของจีดีพี