วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน นครราชสีมา รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน พร้อมรองศาสตราจารย์ ดร.อภิชิต คำภาหล้า คณะบดีคณะระบบรางและการขนส่ง มทร.อีสาน ดร.อุดม พรมพันธ์ใจ ผู้แทน รมว.ศึกษาธิการ นายสมเกียรติ ชิดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา นครราชสีมา (ผอ.สพม.นม.) และผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการให้โควตาคัดพิเศษ (รอบที่ 1) แก่ รร.มัธยมศึกษาในสังกัด สพม.นม. จำนวน 50 แห่ง จากนั้นได้เยี่ยมชมและศึกษาดูงานห้องปฏิบัติการการเรียนการสอนของคณะระบบรางและการขนส่ง

ซึ่งมีห้องปฏิบัติการจัดการสถานีรถไฟ ห้องปฏิบัติการซ่อม บำรุงระบบไฟฟ้าทางรางแพนโทรกราฟจำลอง ห้องปฏิบัติการ smart Railway ห้องจำลองการบิน สาขาวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อแสดงความพร้อมของสถานที่ ครุภัณฑ์ บุคลากร สำหรับการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งตอบรับการพัฒนากำลังคนผ่านการศึกษาสมัยใหม่ให้เกิดการเรียนแบบชุดการเรียนรู้ย่อย (Module-Based Learning) การฝึกอบรม (Re-skill/Up-skill/New skill) เพื่อให้บริการบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจ

รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต เปิดเผยว่า คณะระบบรางและการขนส่ง มทร.อีสาน ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับ สพม.นม. ซึ่งเป็นตัวป้อนนักเรียนให้กับสถาบันอุดมศึกษา โดยประสานงานเชื่อมโยงกันการจัดการเรียนการสอนแบบไร้รอยต่อร่วมกันพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพทุกศาสตร์วิชา เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและผู้ปกครอง โดยเฉพาะด้านระบบราง อากาศยานและการขนส่ง ซึ่งเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี โดยให้โควตาคัดพิเศษแก่นักเรียนที่สนใจ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะสูงและความพร้อมเข้าสู่สถานประกอบการด้านระบบรางและการขนส่งในอนาคต ซึ่ง มทร.อีสาน ได้จัดทำ “พรีดีกรี” ระบบการเรียนเพื่อสอบสะสมหน่วยกิจในระดับปริญญาตรีแบบล่วงหน้า ช่วยให้นักศึกษาจบภายใน 3 ปี ตามแนวทาง “การเรียนดี มีงานทำ ต้นทุนต่ำ รายได้สูงในอนาคต” รวมทั้งขับเคลื่อนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

ด้าน ดร.อุดม พรมพันธ์ใจ ผู้แทน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้เล็งเห็นความสำคัญของนักเรียนที่เรียนดีแล้วต้องมีงานทำมีรายได้ระหว่างเรียน นครราชสีมา ถือเป็นแห่งแรกในการนำร่องสร้างความประสบความสำเร็จให้กับผู้เรียนดี โดยนำเข้ามาเรียนช่างเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ พัฒนายกระดับคุณภาพและศักยภาพของนักเรียนในสายอาชีวะ หรือสายช่างเป็นแหล่งผลิตบุคลากรสำคัญ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลักของประเทศเช่นระบบโลจิสติกส์และทรานสปอร์ตเตชั่น เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

ส่วน นายสมเกียรติ ผอ.สพม.นม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนในสังกัด ประมาณ 64,000 คน อัตราการจบการศึกษาปีละ 8,000-10,000 คน ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการตอบโจทย์พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วโดยมุ่งมั่นสร้างพัฒนาศักยภาพของบุคคล เตรียมพร้อมรองรับการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ ทั้งนี้ มทร.อีสานได้สนับสนุนโควต้านักเรียนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา เป็นการยืนยันการดำเนินการจัดการเรียนการสอนตอบสนองนโยบาย “เรียนดีมีงานทำ” เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่ดีในการดำเนินชีวิต