รัฐบาลเพิ่มแต้มต่อสินค้าไทยในตลาดโลกด้วย FTA ดันไทยครองตำแหน่งส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 7 ของโลก พร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนเพิ่มรายได้เกษตรกรไทยด้วยการตลาดและนวัตกรรม
วันที่ 19 ก.พ.67 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งใจขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดึงดูดการค้า การลงทุนจากต่างชาติ เดินหน้าทำการค้าเชิงรุก และผลักดันให้เกิดการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยในต่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าหากเดินหน้าผลักดันความร่วมมือ FTA ให้เต็มศักยภาพจะเพิ่มตัวเลขการค้าการลงทุนได้มหาศาล เป็นโอกาสสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้ไทยในตลาดโลก ซึ่งขณะนี้ จากตัวเลขทางสถิติ ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของไทยอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก และส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในปี 2566
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้า FTA ที่เป็นตลาดส่งออกของไทยที่มีศักยภาพว่าขยายตัวได้ดีในปี 2566 โดยการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศกลุ่มคู่ค้า FTA ขยายตัว 4% ที่มูลค่า 19,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 73% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด ในส่วนของการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปยังประเทศกลุ่มคู่ค้า FTA มีมูลค่า 15,074 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% ครองสัดส่วน 67.3% ของการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งหมด ซึ่งตลาดคู่ค้า FTA ที่การส่งออกขยายตัวทางการค้าสูง ได้แก่ จีน ซึ่งขยายตัว 11% คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทย ตามมาด้วยตลาดอาเซียนที่ขยายตัว 5%
โดยสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปที่เป็นสินค้าศักยภาพที่ขยายตัวได้ดีในการส่งออกของไทยไปยังตลาดคู่ค้า FTA อันดับ 1 ได้แก่ ข้าว ซึ่งพบว่า ขยายตัวมากถึง 92% ในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย อันดับถัดไป คือ กาแฟ ซึ่งพบว่าขยายตัวที่ 43% ในตลาดกัมพูชา ญี่ปุ่นและจีน ตามมาด้วยผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง ที่ขยายตัว 23% ในตลาดจีน มาเลเซีย และเวียดนาม
ทั้งนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการกำหนดแผนการทำงานช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและรายได้ให้เกษตรกรไทยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยและจากต่างประเทศ ภายใต้นโยบาย “การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า” ของรัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้แทนการค้าไทย คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตร และคณะผู้บริหารบริษัท หัวเว่ย (ประเทศไทย) ได้กำหนดแผนการใช้นวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าสำหรับภาคเกษตรกร ซึ่งรวมถึงการใช้พลังงานสะอาดให้โครงการเกษตรขนาดใหญ่ การพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรและการค้าเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการตลาดและการวางแผนการผลิตตามความต้องการของตลาด และการสร้างแอปพลิเคชั่น “เกษตรพิรุณราช” ให้เป็นช่องทางการค้าขายของเกษตรกรในลักษณะ “From Farm to Table” แก่ผู้บริโภค
“นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการดำเนินการเพื่อเร่งต่อยอดการใช้ประโยชน์จาก FTA ให้เต็มศักยภาพ เชื่อมั่นในการเดินหน้าขยายการค้า ดึงดูดการลงทุน สนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยที่โดดเด่น มีศักยภาพ มีความหลากหลาย และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ออกไปยังตลาดโลก พร้อมทั้งนำนวัตกรรมและการวางแผนการตลาด ทั้งทางออนไลน์ ออนกราวน์ มาอำนวยความสะดวก เพิ่มคุณค่า เพิ่มโอกาส เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย” นายชัยกล่าว
#สินค้าไทย #FTA #ส่งออกสินค้าเกษตร