ออกมาส่งเสียงเพรียกเตือนด้วยความเป็นห่วงยิ่งต่อสถานการณ์ของโลกเราในช่วงทศวรรษ หรือ 10 ปีนี้
โดยเป็นเสียงสะกิดเตือนจากเหล่าบรรดานักวิเคราะห์ของ “สถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยยุทธศาสตร์ศึกษา” หรือ “ไอไอเอสเอส (IISS : International Institute for Strategic Studies) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของประเทศอังกฤษ
ทั้งนี้ การเตือนก็มีขึ้นผ่านรายงานบทใหม่ ซึ่งได้เผยแพร่ออกมาไม่เร็วๆ นี้
โดยในบทรายงานของสถาบันดังกล่าว ซึ่งจัดเป็นสถาบันคลังสมอง หรือธิงค์แทงค์ (Think tank) สถาบันหนึ่ง ก็ระบุว่า โลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความไร้เสถียรภาพอย่างหนัก ถึงขนาดที่บรรดาประเทศต่างๆ จัดสรรเพิ่มงบประมาณกลาโหม หรือด้านการทหาร แต่ทว่า ยิ่งจัดสรรเพิ่มงบประมาณด้านนี้ แทนที่จะทำให้เกิดความมีเสถียรภาพ แต่กลับทำให้ไร้เสถียรภาพมากยิ่งขึ้น เพราะกลับกลายเป็นว่า การเพิ่มงบฯ ข้างต้น ก็ทำให้ไม่ผิดอะไรกับการแข่งขันสั่งสมแสนยานุภาพทางทหารต่างๆ ระหว่างกัน ชนิดไม่ยอมน้อยหน้า ถ้าคุณมี ฉันก็ต้องมี อะไรทำนองนั้น
เหตุปัจจัยที่ทำให้ทางการของนานาประเทศต้องดำเนินการจัดสรรงบประมาณกลาโหมเพิ่มมากยิ่งขึ้นนั้น ก็มีหลายประการด้วยกัน ตามความคิดเห็นของเหล่าบรรดานักวิเคราะห์ของสถาบันไอไอเอสเอส ได้แก่ สงครามรัสเซียกับยูเครน ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้
โดยสามเหตุปัจจัยข้างต้น ต้องถือเป็นประเด็นที่เด่นชัดที่สุด และดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึง ณ ปัจจุบัน
ทั้งนี้ สองปัญหาแรก คือ สงครามรัสเซียกับยูเครน และปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางนั้น คู่ขัดแย้งปรปักษ์ยังคงโรมรันพันตูกันอย่างหนัก
ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่กองทัพรัสเซีย ยังคงโจมตียูเครนอย่างดุเดือด หลังการสู้รบดำเนินมาจนจวนจะครบ 2 ปีเต็ม ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยกองทัพรัสเซียเป็นฝ่ายเปิดฉากทำสงครามรุกรานยูเครนก่อนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) จากนั้นการประจัญบานสู้รบก็ดำเนินมาถึง ณ วินาทีนี้ สร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยูเครน ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำจากกองทัพรัสเซีย ได้รับความเสียหายหนัก เพราะนอกจากต้องสูญเสียกำลังพลทางการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ แล้ว บ้านเรือนในเมืองต่างๆ ที่ตกเป็นสมรภูมิ ก็ต้องภินพัง รวมถึงผู้คนพลเรือนถูกคร่าชีวิต และบาดเจ็บจากสงครามอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนรัสเซีย ผู้ก่อสงคราม ส่วนใหญ่ก็สูญเสียในด้านกำลังพลทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ในกรีธาทัพเข้ามายังยูเครน เช่น รถถังยานรบหุ้มเกราะต่างๆ ที่ปรากฏตัวเลขว่า ถูกทำลายไปราวๆ 3,000 คัน อันเป็นจำนวนที่เท่าๆ หรือใกล้เคียงกับรถถังที่รัสเซียมีอยู่ในคลัง ก่อนเกิดสงครามรัสเซีย – ยูเครน 2022 ขณะที่ ความเสียหายเกี่ยวกับบ้านเรือนของผู้คนพลเมืองก็ไม่เท่าไหร่ อย่างมากก็เพียงแค่มุมตึก มุมอาคารมุมหนึ่งในกรุงมอสโก ที่ยูเครน ลอบส่งโดรนเข้ามาโจมตี โดยความสูญเสียเกี่ยวกับทรัพย์สินเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็อยู่ในเมือง หรือในดินแดน ที่รัสเซียเ ผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เช่น ภูมิภาคโดเนตสก์ เป็นต้น
ทั้งนี้ สงครามรัสเซียกับยูเครน ได้สร้างแรงกระเพื่อม สั่นสะเทือนไปถึงองค์กรความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง “องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ” หรือ “นาโต” เพราะดินแดนอาณาเขตของชาติสมาชิกนาโต ติดกับสมรภูมิรบ เช่น ประเทศโปแลนด์ เป็นต้น ต้องจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมเพิ่มเติม เพราะหวั่นเกรงว่า สงครามการสู้รบ จะลุกลามบานปลายข้ามพรมแดนเข้ามา
เช่นเดียวกับชาติสมาชิกอื่นๆ ในนาโต ล้วนต่างทยอยตบเท้าเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม ทางการทหารต่างๆ กันอย่างถ้วนหน้า โดยมีตัวเลขว่า ชาติสมาชิกนาโต นอกเหนือจากสหรัฐฯ แล้ว ซึ่งก็คือ บรรดาประเทศในภูมิภาคยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ทางการของประเทศเหล่านั้น ได้จัดสรรเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเพิ่มขึ้นรวมแล้วมีอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 32 นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มปรากฏเงาทะมึนมาผนวกแคว้นไครเมียจากยูเครนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เมื่อปี 2014 (พ.ศ. 2557) เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ตัวเลขข้างต้นก็ตามที่กล่าวไว้ คือ ยังไม่นับรวมการเพิ่มงบฯ กลาโหมของสหรัฐฯ ซึ่งถ้าหากนับรวมเข้าไปด้วย ตัวเลขก็จะทะยานพุ่งไปจากนี้มาก
นอกจากชาติสมาชิกนาโต คู่สงคราม คือ รัสเซีย และยูเครน ต่างก็จัดสรรงบประมาณกลาโหมเพิ่ม เพื่อเติมเต็มในสงครามที่พวกเขากำลังสัประยุทธ์กันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัสเซียนั้น ต้องเพิ่มงบฯ กลาโหมในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากเหล่าชาติพันธมิตร ซึ่งมีรายงานว่า มีทั้งจีน อิหร่าน และเกาเหลีเหนือ ส่วนยูเครน ก็ใช้วิธีการขอรับความช่วยเหลือจากชาติพันธมิตรตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐฯ ที่พวกเขาใช้วิธีนี้มาตั้งแต่ต้นของสงคราม
ส่วนปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่กำลังตะลุมบอนระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซา ที่เริ่มดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว ดำเนินมาจนถึง ณ ปัจจุบัน ก็ยังสร้างความวิตกกังวลแก่หลายฝ่ายว่า สงครามของเดิมก็มีความสลับซับซ้อนอยู่แล้ว ก็ส่อเค้าว่าลุกลามบานปลายออกไปนอกฉนวนกาซา เช่น การโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มเฮซบอลเลาะฮ์จากตอนใต้ของเลบานอน และการโจมตีเรือนสินค้าในทะเลแดงโดยกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ก็ส่งให้หลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็ต้องเตรียมการรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ผ่านงบฯ กลาโหมที่จำต้องจัดสรรเพิ่มมากขึ้น
นอกจากปัญหาสงครามและความขัดแย้งทั้งสองข้างต้นแล้ว ก็ยังมีเหตปัจจัยจากการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ จนกระทบกระทั่งกับเขตแดนน่านน้ำของประเทศต่างๆ ที่อยู่ในทะเลดังกล่าว เช่น ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ใช่แต่เท่านั้น การแผ่ขยายอิทธิพลของจีนยังล้ำมายังน่านน้ำของหมู่เกาะบางแห่งของอินโดนีเซีย แถมยังส่งสัญญาณว่า พญามังกรจีนได้สยายกรงเล็บไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้อีกด้วย ทำให้บรรดาประเทศต่างๆ ที่เผชิญหน้ากับจีน ต้องเพิ่มงบฯ กลาโหมเพื่อเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจากจีน โดยไอไอเอสเอส ระบุว่า งบฯ กลาโหมทั่วโลกเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา รวมแล้วก็พุ่งไปถึงร้อยละ 9.9 คิดเป็นเงินก็มีมูลค่ามากถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่า ก็ยังหาได้ทำให้โลกของเรามีเสถียภาพมากขึ้น พร้อมส่งเสียงเพรียกเตือนว่า ความไร้เสถียรภาพจากปัญหาสงครามและความขัดแย้งต่างๆ ประดามีนั้น ก็จะให้โลกของเราเข้าสู่ช่วง “ทศวรรษอันตราย” อย่างน่าเป็นห่วง