เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยถึงก.พม.ให้การช่วยเหลือชายสูงวัย อายุ 65 ปี พิการตาบอดข้างหนึ่ง ส่วนตาอีกข้างมองเห็นลางๆ อาศัยเพียงลำพังในบ้านเก่าสภาพผุพังทรุดโทรม ภายในบ้าน และรอบบ้านเต็มไปด้วยขยะ และไม่มีน้ำประปา-ไฟฟ้า ในพื้นที่ อ.เมือง จ.นนทบุรี ว่า ขณะนี้หน่วยงานของกระทรวงพม. ทั้งทีมพม.หนึ่งเดียว และ พม.จังหวัดนนทบุรี ได้ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือดูแลคุณตาคนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการซ่อมแซมปรับปรุงสภาพของบ้านที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ การติดตั้งน้ำประปา-ไฟฟ้า การติดต่อญาติพี่น้องว่ามีบุตรหลาน หรือว่าคนรู้จักเป็นญาติอยู่ที่ไหน ในการที่จะช่วยดูแล และเรื่องกรรมสิทธิโฉนดที่ดินที่คุณตาอาศัยอยู่ และการมอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ คุณตาได้รับเบี้ยความพิการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อีกทั้งจะหาเจ้าหน้าที่เข้าดูแลรายเคส เข้าไปดูแลอย่างสม่ำเสมอ ในเบื้องต้นนี้ก่อน ส่วนเรื่องการที่จะย้ายคุณตาไปอยู่ที่ไหน คงจะต้องดูในระยะต่อไป ทั้งนี้ วันที่ 19 ก.พ. 67 ทางเทศบาลนครนนทบุรี จะเข้าไปช่วยทำความสะอาดภายในบ้านและบริเวณโดยรอบ และ วันที่ 20 ก.พ. 67 ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. จ.นนทบุรี ของกระทรวงพม. จะพาคุณตาไปตรวจสุขภาพ นอกจากนี้ ศรส. จ.นนทบุรี และเทศบาลนครนนทบุรี จะช่วยกันติดตามช่วยเหลือดูแลคุณตาเป็นระยะๆ อีกด้วย
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ได้แจ้งข่าว จนทำให้ทางกระทรวง พม. หรือแม้แต่ทีมงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. สามารถเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องกลุ่มเปราะบางได้ ซึ่งต้องเรียนว่าในประเทศไทยยังมีพี่น้องกลุ่มเปราะบางอีกจำนวนมากในทุกๆ จังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่มีความเป็นอยู่ที่หนาแน่น มีปริมาณประชากรที่เยอะ ทำให้บางครั้งจะทำให้การเข้าไปถึงในแต่ละครอบครัวนั้น อาจจะไม่ละเอียดเท่าที่ควร ดังนั้น การบูรณาการการทำงาน การพูดคุยกัน ข้ามหน่วยงานของทุกๆฝ่ายนั้น เป็นหัวใจสำคัญ คงจะไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรืออาสาสมัครของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่เป็นการทำงานร่วมกัน การแชร์ข้อมูลกัน การบอกต่อซึ่งกันและกัน เพราะว่าบางครั้ง เมื่อเราไปทำงาน จะไปพบปะกับเหตุการณ์ต่างๆ แล้วนำมาบอกเล่ากันว่า เกิดปัญหาตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งการแชร์ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นหนทางในการที่ทำให้ทุกหน่วยงานเรียกว่ารัฐบาล สามารถเข้า ไปแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที ซึ่งแน่นอน อาจจะมีตกหล่นบ้าง ต้องกราบขออภัยจริงๆ แต่ในบริบทของกระทรวง พม. นั้น เรามีแนวทางในการที่จะเข้าไปเยียวยา สนับสนุน ดูแล แก้ไขปัญหาในทุกๆ บริบท เพียงแต่ว่าบางครั้ง ถ้าหากมีคนแจ้งเหตุเข้ามาแล้ว กระทรวง พม. จะรีบส่งทีมปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. เข้าไปแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น และหลังจากนั้น เราจะดูว่าการช่วยเหลือในระยะกลางและระยะยาว จะสามารถแก้ไขให้คุณภาพชีวิตของบุคคลนั้นดีขึ้นได้อย่างไร
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพบเห็นผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน สามารถโทรแจ้งมาที่ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. ผ่านฮอตไลน์ 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. มีทีมปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว พร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือทันที