บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน ขับ-ลำ ในภาษาอีสาน-ลาว มีความเป็นมาอย่างไร ? “ไม้จัน” นักเขียนอาวุโสชาวลาว อธิบายไว้ในหนังสือ “ขับ ลำ เพลง ลาว มาจากไหน” ว่า “ขับหรือลำ หรือ เพลง ฟ้อน และเครื่องเสพ (ดนตรี) เกิดมีในสังคมชาวลาวเรามาแต่โบราณกาล มันมีบทบาทอิทธิพลสูงส่งต่อชีวิตจิตใจของบุคคล การจัดตั้งสถาบัน และสังคม จนไม่สามารถขาดได้ กล่าวคือได้หล่อเลี้ยงขับกล่อมชีวิต จิตวิญญาณของคนลาวให้มีเอกลักษณ์ รัฐชาติ บรรยากาศ วาดวิถีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ ขับ ลำ เพลง ดนตรี เดิมทีมีเพียงประเภทพิธีกรรม ระยะต่อมาจึงมีประเภทมิใช่พิธีกรรม แต่ละประเภทก็มีรูปแบบ มีพลัง มีเสน่ห์ ถูกนำมาใช้ได้รับความนิยมแตกต่างกันไป และได้รับการปกปักรักษาสืบทอดพัฒนาเรื่อยๆ มา วิถีชีวิตของคนในโลกนี้ มีความหมาย มีบรรยากาศครึกครื้นรื่นเริง ก็ด้วยเสียงลำ เสียงเพลง เสียงดนตรี หากขาดเสียซึ่งสิ่งเหล่านี้แล้ว คงจะเงียบเหงาเศร้าโศกพิลึก ในการร้องลำทำเพลง แต่เดิมลาวเราคงจะใช้แต่คำว่า “ร้อง” และ “ขับ” รวมกันเรียกว่า “ขับร้อง” ส่วนการแสดงลีลาท่าทางประกอบการขับร้องนั้นเรียกว่า “เต้น” และ “ฟ้อน” ต่อมาจึงมีการใช้คำว่า “ลำ” ใช้คำว่า “เพลง” (“เพง”) และคำว่า “ดนตรี ในภายหลัง โดยมีพยานหลักฐานอ้างอิงพอที่จะเชื่อถือได้ว่า มีมาในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจในแหลมสุวรรณภูมิ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8 – 12 หรืออย่างช้าที่สุดก็คือในกลางศตวรรษที่ 14 สมัยพระเจ้าฟ้างุ่มมหาราชครองอาณาจักรล้านช้าง เพราะในสมัยนี้ลาวเราได้รับเอาวัฒนธรรมหลายอย่างจากแขมร์ รวมทั้งภาษา ศิลปะ นาฏศิลป์และดนตรี “ร้อง” คือการเปล่าเสียงออกมาทางปาก โดยที่ไม่มีจังหวะ ทำนอง ส่วน “ขับ”เป็นการเปล่งเสียงออกมาโดยมีการควบคุม จังหวะ ทำนอง ให้เสียงที่เปล่งนั้น สูง-ต่ำ สั้น-ยาว การขับในระยะเริ่มต้นไม่มีเสียงเครื่องเสพ (เครื่องดนตรี) ประกอบใส่ ต่อมาจึงมีการประกอบเสียงเครื่องเสพ (ดนตรี) เข้าใส่ การควบคุม บัญชา สิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามจังหวะ ทำนอง ทิศทาง และจุดประสงค์ที่คนต้องการแบบนี้ ลาวเราล้วนแต่ใช้คำว่า “ขับ” เป็นกิริยา เช่น ขับลำ , ขับเกวียน , ขับรถ , ขับเรือ , ขับยนต์ , ขับไล่ , ขับหนีตีส่ง และใช้คำว่า “ขับเคลื่อน” กับสิ่งที่เป็นขบวนการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงให้พลังขับเคลื่อนระบบเครื่องจักรในรถยนต์ , ใช้แรงงานกรรมกรเป็นพลังขับเคลื่อนขบวนการผลิตในโรงงาน เป็นต้น การเขียนคำว่า “ลำ” ด้วยพยัญชนะตัว ล- ลิง อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ พาให้เข้าใจได้สองทางคือ 1.ລຳ ลำ มาจากภาษาแขมร์ ที่มีรูปเขียนด้วยตัว ร-รัวลิ้น รำ [คำนี้มาจากภาษาบาลีอีกต่อหนึ่งในคำว่า “รัมนียะ” อ่านว่า รำมะนียะ (รมณีย์ ในภาษาไทย) ] แปลว่าการกระทำที่พาให้สะออนซอนจิต / พาให้ม่วนชื่น กล่าวคือ การฟ้อนหรือการแสดงความม่วนชื่นออกด้วยลีลาท่าทางต่างๆ เช่น “รำวง” ก็คือการฟ้อนด้วยความม่วนชื่นเป็นวงอ้อมรอบนั่นเอง [คำว่า ລຳ ลำ ตามจิตสำนึกของคนลาว หมายถึงการโอละนอ เป็นเสียงด้วยกาพย์กลอนประกอบกับเสียงเสพ (แคน) ดังนั้น “ลำวง” ตามรูปคำที่ใช้พยัญชนะตัว ล. ก็ต้องเป็นการลำโอละนอ...แบบเป็นวง แต่ในความเป็นจริงมันหลายถึงการฟ้อนเป็นวงเท่านั้น แสดงว่ารูปคำว่า “ลำวง” ไม่สอดคล้องกับสภาพจริง] เต้นรำ คำนี้คนไทยนิยมใช้ ส่วนคนลาวไม่ค่อยใช้กัน มีแต่คนในเมืองที่ชอบไปม่วนชื่นในสถานบันเทิงใช้กัน มันเป็นคำประสมระหว่าง “เต้น” ที่เป็นภาษาลาว และ “รำ” ที่เป็นภาษาแขมร์ เต้นรำก็คือการไปฟ้อน/เต้น ด้วยลีลาท่าทางตามเสียงเพลง [ไม่ใช่การเต้นแล้วลำ โอ่ยละนอ...ไปพร้อมกัน] คนลาวไม่รัวลิ้นเมื่อพูดตัว ร. ก็เลยพูดออกเสียงเป็นตัว ล.ลิง ว่า “ลำ” แทน 2.ลำ ที่เป็นความลาว [คาดว่าลาวแท้ๆ] หมายถึงสิ่งที่มีลวง (ลำ) ยาว เช่น ลำน้ำ ลำไม้ ลำอ้อย ลำคีง (ลำกาย) ลำแข้ง ลำขา และหมายถึงพาหนะที่สามารถใช้บรรจุและเดินทางยาวไกลได้ เช่น ลำรถ ลำเรือ ลำเกวียน ...เป็นต้น กาพย์กลอนที่แต่งเป็นพื้นเป็นนิทานต่างๆ และใช้เป็นกลอนลำนั้นก็ [มีลวง] ยาว และบรรจุเนื้อหาสาระมากมาย เมื่อแต่งแล้วท่านก็มักบรรจุไว้เป็นมัด เป็นผูก เป็นพวง เป็นก้อน หรือเอาไว้ในบั้งไม้ไผ่ ดังนั้นจึงเรียกว่า “ลำ” เช่น ลำพื้นพะเหวด(พระเวส) ลำพื้นการะเกด ลำพื้นสังสินไซ(สังข์ศิลป์ไชย)..... และในเมื่อนำเอากาพย์กลอนออกมาเผยแพร่ ด้วยการขับขานจึงเรียกชื่อว่า “ลำ” โดยประสานเสียงเสพ(ดนตรี) : ปี่ แคน ฆ้อง กลอง… เข้าใส่ หากพิจารณาอย่างละเอียดจะเห็นว่า รำ ที่มาจากภาษาแขมร์เป็นคำกิริยา ส่วนลำที่เป็นภาษาลาวนั้น มีสองสถานะ คือ มีเพียงแต่ในบริบทที่หมายถึงการเปล่งเสียงลำ (โอละนอ) เท่านั้น เป็นคำกิริยา ส่วนลำในบริบทอื่นๆ ล้วนแต่เป็นคำบอกลักษณะนาม คือบอกวัตถุสิ่งของประเภทที่มีลวงยาว คือลำไม้ ลำเรือ ลำรถ... ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่า ที่แท้แล้ว “ลำ”(โอละนอ) ที่เป็นคำกิริยา ในภาษาลาวนั้นอาจยืมมาจาก “รำ” ในภาษาแขมร์ โดยเป็นคำกิริยาเหมือนกัน แต่สื่อความหมายเปลี่ยนจากเดิมที่คือ “ฟ้อน” ไปเป็น “ขับ” มีข้อที่น่าสังเกตเพิ่มอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนลาวเราทางภาคเหนือลงมาถึงเขตร่องงึ่ม ยังคงเรียกการแสดงอย่างหนึ่งที่มีมาแต่โบราณตามคำพูดดั้งเดิมนั้นว่า “ขับ” ไม่เคยพูดว่า “ลำ” เลย เช่นขับงึม ขับพวน (ขับเชียงขวาง) ขับซำเหนือ ขับทุ้ม ขับลื้อ ขับไทดำ .... ส่วนคนทางใต้นับแต่แขวงคำม่วนลงไปกลับใช้คำว่า “ลำ” เรียกชื่อการแสดงแบบเดียวกัน นั่นคือ ลำมหาไชย ลำผู้ไท ลำตั่งหวาย ลำคอนสวรรค์ ลำสาละวัน ลำสีทันดร... คำว่า “ขับ” นี้ยังปรากฏใน ”คำโตงโตย” ที่บอกอาการของคนซึ่งไม่สบายที่ว่า “นอนบ่หลับ ขับบ่ม่วน” อีกด้วย เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า คนทางภาคเหนือสามารถรักษาภาษาลาวแบบดั้งเดิมได้ดีกว่าคนทางใต้ ในวรรณคดีไทยดั้งเดิมก็ใช้คำว่าขับเหมือนกัน เช่น “ขับเสภา” เป็นต้น ส่วนคำว่า“รำ” ในภาษาไทยก็หมายถึงฟ้อน เพราะไทยก็รับคำนี้มาจากภาษาแขมร์เหมือนกัน สำหรับคำว่า “ลำ” ที่หมายถึงการโอละนอนั้น ก็มีแต่ในหมู่คน [ลาว] อยู่ภาคอีสานของไทยเท่านั้น และก็มีแต่สำเนียงในภาษาลาวเท่านั้นที่สามารถใช้ลำโอละนอได้ ส่วนสำเนียงไทยนำมาใช้ไม่ได้ การเปลี่ยนจากคำว่า “ขับ” มาเป็น “ลำ” นี้เกิดขึ้นทางดินแดนและผู้คนที่มีการเปลี่ยนคำเรียกชื่อสายแม่น้ำ ระหว่างคำว่า “น้ำ” กับคำว่า “เซ” คือคนที่อยู่ทางเหนือของเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนขึ้นไปทางเหนือ เรียกสายน้ำว่า “น้ำ” เช่น น้ำโดน น้ำหินปูน น้ำกระดิง น้ำซัน น้ำเงียบ น้ำงึม น้ำอู น้ำแบ่ง น้ำทา ส่วนสายแม่น้ำที่อยู่ด้านใต้เมืองดังกล่าวลงไปกลับถูกเรียกว่า “เซ” เช่น เซบั้งไฟ เซบังเหียง เซบังนวน เซโดน เซกอง.... การเปลี่ยนคำว่าน้ำ เป็นเซนี้ คงมีสาเหตุจาก คนและดินแดนทางใต้ได้รับอิทธิพลจากภาษาแขมร์และภาษาจามมาก เพราะคำว่า “เซ” เป็นภาษาจาม โดยมีคำที่ใกล้เคียงคือ : ซำ เซือม เซื่อม ส่วนคำว่า “บัง” เป็นภาษาแขมร์ ซึ่งมีคำที่ใกล้เคียงคือ : บวม เบือม บ่อ บาง [บางกอก] บึง บุ่ง.... ซึ่งล้วนเป็นคำที่เกี่ยวกับน้ำทั้งนั้น เป็นต้น โดยปกติแล้วในการแสดงขับก็มีการฟ้อนประกอบด้วย ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่า คนทางใต้ก็เลยใช้คำว่า “ขับ-รำ” เรียกชื่อการแสดงนั้น [ทั้งขับทั้งฟ้อน] แต่ลิ้นคนลาวไม่รัวในเวลาพูดเสียงตัว ร. ก็เลยออกเป็น “ขับลำ” แทนที่จะใช้คำว่า “ขับ-ฟ้อน” เหมือนกับคนทางเหนือที่ยังรักษาเอกลักษณ์ทางภาษาไว้อยู่ ขณะเดียวกันก็ใช้คำว่า “รำฟ้อน” (ลำฟ้อน) เมื่อพูดถึงฟ้อน ดนนานผ่านหลายปี สุดท้ายแล้ว “รำ” แขมร์ที่เดิมมีความหมายว่าฟ้อนก็กลายเป็น “ลำ” ลาว ที่หมายถึงการเอ่ยเสียงขับโอละนอ... ขณะที่ฟ้อนยังคงเป็นลีลาท่าทางประกอบการขับอยู่ตามเดิม เป็นอันว่า “รำ” ในภาษาแขมร์ มาพบพ้อกับ “ลำ” ในภาษาลาว ในงานบุญหรืองานฉลองใดหนึ่ง แล้วทั้งสองก็เข้ากันจนไม่เหลือส้นเหลือเงื่อนให้เห็น อันนี้แสดงให้เห็นชัดว่าผู้คนในภูมิภาคนี้มีการประสมประสานทางภาษา สังคม และวัฒนธรรมอย่างสนิทแน่น” ภาพประกอบ : Players of the Khen pipe organ in Vientiane, Laos, 1925. นิทรรศการ “อารยธรรมลุ่มน้ำโขง” มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จำปีพ.ศ.ไม่ได้