วันที่ 16 ก.พ. 2567 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของ กกต. อาจจะเป็นเครื่องมือทางการเมือง จากกรณียุบพรรคการเมือง ว่า กกต. ไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่ก็ไม่สามารถห้ามใครคิดแบบนั้นได้ กฎหมายพูดเสมอว่าให้ กกต. มีหน้าที่อะไรบ้าง ถ้าบทบาทเป็นอย่างไร กกต. ก็ต้องทำ คงไม่ได้เป็นเครื่องมืออะไร
เมื่อถามว่า สังคมมองว่าที่ผ่านมา กกต. มักจะยื่นยุบพรรคที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล โดยครั้งนี้ก็คือพรรคก้าวไกล ซึ่งเพิ่งจะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องใช้การแก้ไขมาตรา 112 ในการหาเสียงของพรรค นายอิทธิพร กล่าวว่า การยุบพรรคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงปรากฏ เราไม่ได้ดูชื่อพรรค ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า พรรคการเมืองใด ทำอะไรอย่างไร แล้วเรื่องมาถึงอำนาจหน้าที่ของ กกต. เราก็ทำตามนั้น ที่ผ่านมาเราพยายามทำตามกฎหมาย ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการทำงานโดยแท้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา แล้ว กกต. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ประธาน กกต. กล่าวว่า นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ที่ทราบกันทั่วไป แต่เนื่องจากศาลวินิจฉัยวันที่ 31 ม.ค. ต่อมาวันที่ 1 – 2 ก.พ. มีคนมายื่นร้องต่อ กกต. เพื่อขอให้ส่งเรื่องยุบพรรคก้าวไกล และวันที่ 6 ก.พ. สำนักงาน กกต. เสนอเรื่องตามกระบวนการการทำงานปกติให้ กกต. ทราบว่ามีเรื่องนี้ กกต. ก็ขอให้สำนักงานและนายทะเบียนพรรคการเมือง ไปศึกษาคำวินิจฉัยศาลเท่าที่มีอยู่ในวันอ่าน และศึกษาว่าตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ตามอำนาจหน้าที่ที่มี และวันที่ 13 ก.พ. ก็มีการเสนอเรื่องมาว่าอยู่ระหว่างการศึกษา
อย่างไรก็ตามเพื่อความรอบคอบ เพื่อความเป็นธรรม และชัดเจน อาจจะให้ศึกษาคำวินิจฉัยกลาง ซึ่งตามแนวทางการทำงานทราบว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาภายใน 2 สัปดาห์ คาดว่าจะเป็นภายในวันนี้ สัปดาห์นี้ แต่ไม่ช้าไปกว่านี้แน่ เมื่อ กกต. มีข้อมูล เอกสารครบถ้วน ก็จะวินิจฉัยตามนั้น ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาคำวินิจฉัยของศาล หลักฐานและดูว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องข้อกฎหมายที่เขียนชัดในตามมาตรา 92 และ 93
เมื่อถามว่า หากยื่นยุบพรรคตามกฎหมาย ต้องอิงตั้งแต่กรรมการบริหารพรรคชุดเก่าที่เคยเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ไม่ได้ลงรายละเอียดขนาดนั้น เพราะยังมีกระบวนการทำงาน 1.ศึกษาคำวินิจฉัยให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อน 2.สำนักงานกกต. มีความเห็นเป็นอย่างไร จะเสนอ กกต. ใช้อำนาจหน้าที่อย่างไร ทั้งนี้ไม่มีกรอบเวลาชัดเจน แต่เรื่องนี้ต้องทำโดยไม่ชักช้า เพราะมีคำวินิจฉัยออกมาชัดเจนแล้ว แต่กระบวนการทำงานหากทำละเอียด ครบถ้วนได้ก็จะเป็นประโยชน์
เมื่อถามย้ำว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลแล้ว ยังต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาให้ข้อมูลชี้แจงเพิ่มเติมหรือไม่ ประธาน กกต. กล่าวว่า อาจจะมีกระบวนการภายใต้กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่นายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งขึ้น ขณะนี้เราทำคู่ขนานกันไประหว่างสำนักงานเสนอความเห็นว่า เรื่องนี้มีหลักฐานอันควรเชื่อแล้วหรือยัง ซึ่งก็ต้องไปดูว่าเรื่องนี้จะตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างไร ก็ทำพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะเรียกก็อาจเรียกในกรอบของคณะตรวจสอบข้อเท็จจริง