รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล คณะทูตของลาลูแบร์ออกจากประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2230 มุ่งหน้าสู่สยาม ขบวนเรือประกอบไปด้วยเรือ 6 ลำ มีผู้โดยสาร 1,361 คน นอกจากเครื่องบรรณาการตอบแทนจำนวนมากแล้ว ยังมีโน้ตเพลงของฌอง แบบติสต์ ลุลลี ที่นักบวชเยซูอิดนำติดตัวมาด้วย เพื่อเป็นของกำนัลแด่พระเจ้าแผ่นดินสยามเป็นการพิเศษ แต่ทำไมต้องเป็นงานของลุลลี? คำตอบก็คือลุลลีเป็นคีตกวีประจำราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในขณะนั้น และเป็นนักแต่งเพลงที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากพระเจ้าหลุยส์ให้สามารถแต่งโอเปร่า (ขณะที่ผู้ไม่ได้รับอนุญาตห้ามแต่งโดยเด็ดขาด) นอกจากโน้ตเพลงแล้ว เรือของราชทูตยังนำเครื่องดนตรีตะวันตกจำนวนหนึ่งมายังสยาม ดังระบุไว้ว่ามี “ออร์แกนใหญ่และเล็ก แกะสลักและลงสี... ฮาร์ปซิคอร์ด... บาส วิโอล (เครื่องสายชนิดเสียงต่ำ) สองคัน...” และยังมีการระบุถึงเครื่องดนตรีที่คล้ายออร์แกนลม อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์หลายชนิด และที่น่าสนใจคือ ในข้อหนึ่งระบุว่ามีฮาร์ปซิคอร์ดที่นำมามอบให้มาดามฟอลคอนโดยเฉพาะอีกด้วย ขบวนราชทูตนี้ ยังมีนักดนตรีหนุ่มผู้หนึ่งร่วมทางมาด้วยคือนายอังเดร คาร์ดินาล เดทุช (Andre Cardinal Destouches) ซึ่งขณะนั้นอายุได้เพียง 15-16 ปีเท่านั้น ถือเป็นนักดนตรีฝรั่งเศสที่ได้เดินทางมายังแผ่นดินสยามคนหนึ่งในจำนวนน้อยคน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเศร้าว่าในระหว่างการเดินทาง เดทุชได้กลายเป็นหมากทางการเมืองระหว่างคนสองคน คือบาดหลวงตาชาร์ด กับ ลาลูแบร์ ซึ่งมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ความตึงเครียดที่เด็กหนุ่มได้รับ ผนวกกับอาการป่วย (สันนิษฐานว่า) เป็นไส้เลื่อน ส่งผลให้เขาต้องเดินทางกลับพร้อมคณะทูตในปีรุ่งขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วตั้งใจจะอยู่ที่อยุธยาต่อ แต่ผลปรากฏว่าการกลับไปยังฝรั่งเศสของเดทุชนั้นถือเป็นโชคดี เพราะหลังจากที่พระนารายณ์เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2231 ชาวตะวันตกจำนวนมากในอยุธยาก็ถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งในจำนวนผู้ต้องขังในครั้งนั้น ระบุชื่อว่ามีนาย ม. ลอเนย์ “นักดนตรี” และ นาย ม. ริชาร์ด “นักออร์แกน” รวมอยู่ด้วย เดทุชในวัยกลางคน กลายเป็นนักดนตรีชื่อดังในฝรั่งเศส เขาเขียนงานจำนวนมากที่ได้รับความนิยมอย่างสูง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีร่องรอยของดนตรีสยามปรากฏอยู่ในงานของเขาเลยแม้แต่น้อย แต่เรื่องของเดทุชนี้คงเป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับคนฝรั่งเศสอยู่พอสมควร ดังนั้นเมื่อวอลแตร์ นักเขียนชื่อดังชาวฝรั่งเศส เขียนบทสนทนาทางปรัชญาสั้นๆ ขึ้นใน พ.ศ. 2309 เกี่ยวกับเรื่องดนตรีและการเมือง เขาจึงสมมติตัวละครขึ้นสองตัว ชื่อว่า เดทุช และ ครูเทพ (Kroutef) ข้าราชการชาวสยาม ในบทสนทนานี้ เดทุชและครูเทพพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องระบบการปกครอง การเงิน กฎหมาย ในหลายๆ ประเด็น ก่อนที่เดทุชจะถามครูเทพถึงเรื่องดนตรีในประเทศสยาม ซึ่งดูเหมือนครูเทพจะไม่เต็มใจพูดถึงนัก และครูเทพก็พยายามขับเน้นบทสนทนาแต่เรื่องการเมืองการปกครอง โดยระบุชัดเจนว่าประเทศที่ดีจะต้องมีการปกครองที่เข้มงวดและมีการลงทัณฑ์อย่างเฉียบขาด เดทุชพยายามสอบถามถึงระบบระเบียบการตั้งเสียงในดนตรีสยาม แต่ครูเทพไม่สนใจจะตอบ และแสดงอาการโกรธเคืองว่าเดทุชพูดจาออกนอกเรื่อง แต่เดทุชบอกว่าไม่ เพราะ “ดนตรี” คือทุกๆ สิ่ง แล้วก็อ้างนโยบายทางการเมืองของกรีกโบราณว่าล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องของดนตรีทั้งสิ้น สุดท้ายบทสนทนาจบลงอย่างห้วนๆ และแสดงให้เห็นความแตกต่างทางความคิดของคนต่างเชื้อชาติ ว่าชาวสยามหาได้ให้ความสนใจไยดีกับเสียงดนตรีอย่างที่ชาวฝรั่งเศสเป็นไม่ แต่แน่นอนว่านั่นคือสยามในจินตนาการของวอลแตร์เท่านั้น ภาพ Andre Cardinal Destouches (พ.ศ. 2215-2292)