รายงาน : ตามข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทย มีอยู่ราว 60 กลุ่ม ประชากรประมาณ 10 ล้านคน กระจายอยู่ใน 4,700 ชุมชนทั่วประเทศ
ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. 6 ก.พ. 67) อนุมัติร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับแรกของประเทศ วางหลักการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตทุกกลุ่มวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นกฎหมายชาติพันธุ์ฉบับแรกของประเทศ ที่วางหลักการในการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์มีสำนึกความเป็นไทย กฎมายฉบับนี้จะคุ้มครองวิถีชีวิตตามหลักสิทธิทางวัฒนธรรม ส่งเสริมศักยภาพให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนบนฐานทุนทางวัฒนธรรม และสร้างความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะเป็นหลักประกันให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในชีวิต สามารถประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ดำรงอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียม สร้างการยอมรับและเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทย มีอยู่ 60 กลุ่ม ประชากรประมาณ 10 ล้านคน กระจายอยู่ใน 4,700 ชุมชนทั่วประเทศ โดยร่างพระราชบัญญัติฯนี้ จึงกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และกลุ่มชาติพันธุ์เป็นกรรมการ รวมถึงมีการจัดตั้งสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์ องค์กรบริหารกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้มีการหารือแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมอง การบริหารจัดการ การให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ
นอกจากนี้จะมีการจัดทำข้อมูล ประวัติบุคคล วิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ โดยสำรวจทุกชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน สามารถนำมาบริหารจัดการในการสร้างนโยบายต่างๆ ในการวางแผน ดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครอง ให้เข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้เท่าเทียมกันอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการศึกษา รักษาพยาบาล การพิจารณาให้สัญชาติ เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยให้หลุดพ้นจากการเป็นสังคมเปราะบาง ที่มีปัจจัยเสี่ยงจากความแตกต่างที่อาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรง ฉุดรั้งการพัฒนาและขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ
“หลังจากนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และจะพยายามผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้” รมว.วัฒนธรรม กล่าว
สำหรับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กระทรวงวัฒนธรรมโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(ศมส.) (องค์การมหาชน) เสนอ ร่วมกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และภาคีองค์กรเครือข่ายขับเคลื่อน โดยมีที่มาจากมติครม. ฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553