ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง พระบรมมหาราชวัง คือ สัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ และราชธานี พระบรมมหาราชวังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับแต่แรกสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ผ่านรัชกาลต่อมาโดยลำดับมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ในท่ามกลางบริบทความเปลี่ยนแปลงทางบ้านเมืองและสังคมไทย แต่สิ่งหนึ่งที่พระบรมมหาราชวังไม่เปลี่ยน คือความเป็นศูนย์กลางของความศักดิ์สิทธิ์แห่งราชธานี และของคนไทย ในขณะที่สถาปัตยกรรม ศิลปกรรมของพระบรมมหาราชวัง เป็นแหล่งรวบแบบแผนงานช่างชั้นสูงของไทย ที่คลี่คลายปรับเปลี่ยนมาตามยุคสมัยสู่ยุครัตนโกสินทร์ ทั้งยังเป็นต้นแบบแผ่กระจายไปทั่วราชอาณาจักร พื้นที่ของพระบรมมหาราชวังในสมัยรัชกาลที่ 1 มีเนื้อที่ 132 ไร่ (วิกิพีเดีย) “เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2325 ในชั้นแรกโปรดให้สร้างพระราชมณเทียรด้วยเครื่องไม้และรายรอบพระบรมมหาราชวังด้วยเสาระเนียดเป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อให้ทันการพระราชพิธีปราบดาภิเษกเฉลิมพระราชมณเทียรในพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2325 ปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2326 โปรดให้แก้ไขพระราชมณเทียรสถาน และระเนียดล้อมพระราชวัง จากเครื่องไม้เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน สร้างป้อมปราการและประตูรอบพระราชวังเช่นเดียวกับป้อมปราการพระนคร” (“กรุงเทพฯ มาจากไหน ?” สุจิตต์ วงษ์เทศ 2555) พระบรมมหาราชวังในรัชกาลต่อมา ได้ขยายเขตพื้นที่ออกไปเป็น 152 ไร่ 2 งาน จนถึงปัจจุบัน (วิกิพีเดีย) แผนผังของพระบรมมหาราชวังได้ยึดถือแบบของพระราชวังหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา คือสร้างติดกับแม่น้ำ หันหน้าไปทางทิศเหนือโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางทิศตะวันตก ให้กำแพงเมืองด้านข้างแม่น้ำเป็นกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นนอก และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระอารามหลวงในพระราชวังตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ์ของกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก (อ้างแล้ว) พระบรมมหาราชวังสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเขตพระราชฐาน อันเป็นพื้นที่สำหรับเป็นที่ประทับและบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ โดยเขตพระราชฐานสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เขตพระราชฐานชั้นหน้า เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งแต่ละเขตมีชื่อประตูเรียกต่างๆ กันไป ในที่นี้นำชื่อประตูเขตพระราชฐานชั้นหน้า หรือเขตพระราชฐานชั้นนอก ที่อยู่รายล้อมพระบรมมหาราชวัง ทั้ง 12 ประตู ที่มีชื่อคล้องจองกันคือ วิมานเทเวศร์ วิเศษไชยศรี มณีนพรัตน์ สวัสดิโสภา เทวาพิทักษ์ ศักดิ์ไชยสิทธิ์ วิจิตรบรรจง อนงคารักษ์ พิทักษ์บวร สุนทรทิศา เทวาภิรมย์ อุดมสุดารักษ์ ทั้ง 12 ประตูเขตพระราชฐานชั้นหน้าหรือชั้นนอก มีความสำคัญการใช้สอยประโยชน์แตกต่างกันไป ส่วนตรงนี้นำชื่อประตู วิเศษไชยศรี มณีนพรัตน์ และสวัสดิโสภา มานำเสนอโดยข้อมูลพจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม (กนกวลี ชูชัยยะ เรียบเรียง ราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์เผยแพร่ 2548) เป็นเกร็ดความรู้ฉบับย่อ ประตูวิเศษไชยศรี อยู่ด้านทิศเหนือ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระมหามนเทียร ปัจจุบันประตูวิเศษไชยศรีเป็นประตูทางเข้าออกพระบรมมหาราชวังที่สำคัญที่สุด (ขณะเดียวกัน ประตูวิเศษไชยศรียังเป็นประตูที่ประชาชนมาถวายสักการะพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และยังเป็นประตูที่นักท่องเที่ยวเข้าไปชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ประตูมณีนพรัตน์ อยู่ด้านทิศเหนือ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 เปิดใช้เมื่อมีการเชิญพระบรมศพออกมาตั้งที่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ใช้เป็นประตูฉนวนให้ฝ่ายในออกไปงานพระเมรุ และรื้อฉนวนออกเมื่อเสร็จงานพร้อมทั้งปิดประตูนี้ด้วย ประตูนี้จึงปิดตลอดเวลา (อย่างไรก็ดี ในระหว่างนี้ประตูมณีนพรัตน์ได้เปิดประตูเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนมาถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในหลวง รัชกาลที่ 9” เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท) ประตูสวัสดิโสภา อยู่ด้านทิศตะวันออก ตรงกันข้ามกับกระทรวงกลาโหม ประตูสวัสดิโสภาสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 ประตูเข้าบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม