เมื่อวันนี้ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ประมาณ 100 คน ร่วมกันจัดกิจกรรม “บอกฮักแม่น้ำชี บวชแม่น้ำชี ณ วัดบ้านอีโก่ม ตำบลเทอดไทย อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด

ทั้งนี้ได้มีการจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงความสำคัญของแม่น้ำชีที่ชาวบ้านได้เข้าไปใช้ประโยชน์ ก่อนที่จะร่วมกันเดินทางไปสะพานข้ามแม่น้ำชีบ้านอีโก่ม-นาเลิง เพื่อทำพิธีปล่อยกระทง บอกฮักแม่น้ำชี และบวชแม่น้ำชี พร้อมกับอ่านแถลงการณ์

แถลงการณ์ระบุถึงข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้ 1.ถ้ารัฐบาลฮักประชาชนคนลุ่มน้ำชีจริง ก็ฟังเสียงของพี่น้องน้ำชี หยุดทำร้ายแม่น้ำชี หยุดการกำหนดนโยบายการจัดการน้ำที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม หยุดโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล และหยุดเขื่อนที่จะเกิดใหม่ในแม่น้ำชี

 2.ถ้ารัฐบาลฮักประชาชนคนลุ่มน้ำชีจริง ก็เร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนแม่น้ำชี เร่งชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำชีตามการเรียกร้องสิทธิ์ 3.ถ้ารัฐบาลฮักประชาชนคนลุ่มน้ำชีจริง ก็กระจายอำนาจและสนับสนุนให้คนแม่น้ำชีจัดการน้ำตามรูปแบบภูมินิเวศที่เหมาะสมและเข้าถึงการจัดการจริง ๆ ด้วยตนเอง

นางเกสร พร้อมพรั้ง กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นพี่น้องได้ใช้ประโยชน์จากน้ำชีหลัก คือทำการประมง ชาวบ้านผูกพันกับระบบการหาอยู่หากินตามแหล่งน้ำ โดยมีวิธีหาปลาด้วยการพลิกแพลงไปตามสภาพแหล่งน้ำที่เปลี่ยนไป

นางเกสรกล่าวว่า ชาวบ้านได้ใช้แม่น้ำชีทำการเกษตร การทำนาแซง (นาปรัง) การทำนาแซงเป็นการทำนาดำในบริเวณกุด จึงไม่ต้องไถพรวน สามารถปักดำได้เลย และไม่ต้องใส่ปุ๋ย เพราะเป็นดินที่เกิดจากกระแสน้ำพัดพาตะกอนมาทับถมในช่วงฤดูน้ำหลากของทุกปี

นายนิมิต หาระพันธ์ กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดยโสธร กล่าวว่า ฤดูกาลและระบบการไหลหลากของแม่น้ำชี ระบบการไหลหลากของแม่น้ำชี ตามลักษณะทางกายภาพมีส่วนสัมพันธ์ต่อวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำชี ทั้งในที่ดอนและภูเขา  และที่ราบลุ่มที่ราบลุ่มริมน้ำ โดยเฉพาะการไหลของน้ำแม่น้ำชีในพื้นที่ราบลุ่มที่มีภูมินิเวศเป็นบุ่งทาม ชุมชนมีองค์ความรู้ในการทำมาหากินสัมพันธ์กับระบบน้ำไหลตามฤดูกาลการผลิตในรอบปฏิทินการผลิต หรือเป็นวงรอบหมุนเวียน

“ปัจจุบันหลังมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่น การทำนาปีก็ถูกน้ำท่วมนานผิดปกปติ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจชุมชน ความเปลี่ยนแปลงด้านระบบนิเวศโดยเฉพาะทิศทางการไหลของน้ำผิดปกติ ถ้าเปรียบเทียบแม่น้ำชีเมื่อครั้งอดีตที่ยังไม่มีเขื่อนนั้นสะท้อนให้เห็นว่าแม่น้ำชีก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า”นายนิมิต กล่าว

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร กล่าวว่า ความสำคัญของแม่น้ำชีเป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของประเทศ และเป็นแหล่งน้ำอันเป็นคุณลักษณะที่ดึงดูดให้ผู้คนต่างเข้ามาตั้งบ้านเรือน แหล่งน้ำชียังให้ความอุดมสมบูรณ์แก่พื้นที่ลุ่มน้ำ นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งรกราก ตั้งหลักปักฐานจากรุ่นสู่รุ่น ต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากงานศึกษายังพบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชีมีความหลากหลายของระบบนิเวศ  มีทั้งป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าทาม  มีลักษณะภูมิสัณฐาน ที่เป็นที่ราบสูงมีที่ราบลุ่มระหว่างทิวเขา มีที่ราบลุ่มน้ำและที่ราบทามปากน้ำ  ลักษณะที่เป็นภูเขาและทิวเขา เป็นพื้นที่ในเขตจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ได้แก่ ภูอีเฒ่า ภูเขียว ภูแลนคา ส่วนที่ราบทาม ร้อยเอ็ด ยโสธร คือ ทามปากน้ำปาว ทามปากน้ำยัง

นายสิริศักดิ์กล่าวว่า โดยทั่วไปพื้นที่เป็นที่ราบลูกคลื่น พื้นที่บางส่วนเป็นทุ่งนาสลับกับป่าไม้  บางแห่งมีลักษณะเป็นแอ่งรูปรีทำให้สัณฐานแม่น้ำคดโค้งเกิดเป็นกุดต่างๆมากมายนับร้อยแห่ง เช่น กุดเค็ง กุดเซียม กุดอีช่วย กุดหมากเก็บ เป็นต้น  คำศัพท์ที่บอกภูมิสัณฐานและระดับพื้นที่คือ  โคก  ดอน  ทุ่ง  ราบ  ลุ่ม

“ ถ้ารัฐเข้าใจระบบนิเวศและการทำหน้าที่ของแม่น้ำชีก็คงจะไม่เกิดการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนน้ำชี และต้องทำให้เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิจากผลกระทบการสร้างเขื่อน และรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้อง”นายสิริศักดิ์ กล่าว