"ภูมิธรรม" ถกสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยแก้ปัญหาส่งออก หนุนเอกชนปรับรับกติกาโลกใหม่ เน้นยั่งยืน พลังงานสะอาด พร้อมใช้ FTA สร้างแต้มต่อการค้า
วันที่ 14 ก.พ.67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ แถลงภายหลังการหารือกับผู้บริหารจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์) เพื่อส่งเสริมและแก้ปัญหาการส่งออกยานยนต์ของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นลำดับที่ 3 ของไทย ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกยานยนต์สำคัญของโลก โดยมีนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นางสาวยุพิน บุญศิริจันทร์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ร่วมด้วย
นายภูมิธรรม กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยึดหลักร่วมมือกับเอกชน ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และการค้าในประเทศให้เข้มแข็ง ยึดจุดสมดุล ลดภาระต้นทุนผู้ประกอบการ สร้างรายได้เข้าประเทศ รัฐบาลโดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ยึดหลักแก้ไขอุปสรรคให้เอกชนเป็นทัพหน้าหารายได้เข้าประเทศ รัฐแก้ไขปัญหาอุปสรรค ท่านนายกฯกำชับให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เราจะใช้ประโยชน์จากการเจรจา FTA สร้างโอกาสทางการค้า หาตลาดใหม่ หาหุ้นส่วนทางการค้า และนักลงทุนให้มากขึ้น
“วันนี้กติกาการค้าโลกใหม่ เริ่มมีผลบังคับใช้มากขึ้น ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด การแก้ไขปัญหาถิ่นที่อยู่สินค้า ตนอยากให้ทุกฝ่ายเท่าทัน พัฒนาตามกลไกที่เปลี่ยนแปลง สร้างสมดุลใหม่ และสมาคมฯมีประเด็นรถยนต์ส่งออกที่ส่งไปออสเตรเลีย มีปัญหาดอกหญ้าและฝุ่นปนเปื้อนไปกับรถยนต์ กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกระทรวงเกษตรฯ และฝ่ายออสเตรเลีย ศุลกากร ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาไปได้เยอะ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ของแหลมฉบัง ซึ่งเราก็พยายามขจัดออก และจะเรียนท่านนายกฯที่จะเดินทางไปออสเตรเลีย ให้ทราบเพื่อใช้ดูแลผู้ประกอบการไทยในการไปเยือนออสเตรเลีย” นายภูมิธรรม กล่าว
ด้านนายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมฯได้มาขอการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เช่น การเจรจา FTA ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลาย FTA ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า เงื่อนไขการส่งออกอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และการทำธุรกิจที่สะดวกรวดเร็วขึ้น เช่น การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะช่วยสนับสนุนไปสู่ระบบ paperless และการส่งออกไปจุดหมายสำคัญอย่างออสเตรเลียได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ทั้งนี้การผลิตเพื่อขายในประเทศ ปีที่ผ่านมาการผลิตเพื่อขายในประเทศติดลบประมาณ 8% แต่การส่งออกยังดีบวกประมาณ 11% สาเหตุหลักของการติดลบของการผลิตเพื่อขายในประเทศเป็นเรื่องของปิกอัพเป็นหลัก ติดลบประมาณ 30% มาจากหนี้สินครัวเรือน และการปล่อยสินเชื่อในภาวะ NPL ในระบบการขายรถยนต์สูง
โดยข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย การส่งออกสินค้ายานยนต์ในปี 2566(ม.ค.-ธ.ค.) มีมูลค่า 25,127.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (865,565.58 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.96 โดยมีตลาดออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกหลัก ในปี 2566(ม.ค.–ธ.ค.) ไทยผลิตรถยนต์ได้ทั้งสิ้น 1,156,035 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.44 สินค้าส่งออก 4 อันดับแรก 1.รถยนต์นั่ง 2.รถปิกอัพ รถบัส และรถบรรทุก 3.รถจักรยานยนต์ และ 4.รถจักรยาน โดยประเทศที่ส่งออก 10 อันดับแรก 1.ออสเตรเลีย 2.ฟิลิปินส์ 3.ซาอุดีอาระเบีย 4.ญี่ปุ่น 5.สหรัฐอเมริกา 6.เวียดนาม 7.เม็กซิโก 8.มาเลเซีย 9.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ 10.อินโดนีเซีย ทั้งนี้ FTA ฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นฉบับที่ 15 FTA ไทย-ศรีลังกา ได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าของไทยด้วย
#สภาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย #ส่งออก #FTA