มีพาวเวอร์ทรงพลัง ของแท้ของจริง ไม่ต้องอิงคณะกรรมการอะไรๆ ให้ยุ่งยากเปลืองงบฯ
สำหรับ เทศกาลวันวาเลนไทน์ (Valentine's Day) วันแห่งความรัก ซึ่งได้เวียนมาบรรจบครบอีกปี ในวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์นี้
โดยเทศกาลดังกล่าว ก็ถูกยกให้เป็นเทศกาลยอดฮิต ติดกระแสความนิยมของผู้คนแทบจะทุกซีกโลก
ไม่ว่าจะเป็นฝรั่ง จีน อินเดีย แอฟริกา ชาวเกาะทั้งหลาย ล้วนจัดกิจกรรมเนื่องในเทศกาลวันวาเลนไทน์แทบจะถ้วนหน้า
เมื่อกล่าวถึงเทศกาลนี้ แรกเริ่มเดิมทีก็เป็นวันฉลองนักบุญในคริสตศาสนาองค์หนึ่ง นั่นคือ นักบุญ หรือเซนต์ วาเลนตินุส หรือวาเลนไทน์ ผู้พลีชีพเพื่อคริสตศาสนา จนได้รับยกย่องให้เป็นนักบุญ หรือเซนต์ ในเวลาต่อมา และจัดให้มีพิธีรำลึกฉลองกันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของแต่ละปี อันเป็นวันที่เขาพลีชีพเพื่อศาสนาคริสต์เมื่อปี ค.ศ. 269 (ตรงกับ พ.ศ. 812) ก่อนที่ในเวลาต่อมา เทศกาลวันฉลองนักบุญวาเลนตินุส หรือวาเลนไทน์ นั้น จะมีวิวัฒนาการเป็นเทศกาลวันแห่งความรัก และเป็นกระแสนิยมยอดฮิตหากกล่าวถึงเทศกาลในยุคปัจจุบัน ไม่แพ้เทศกาลอื่นๆ แม้ว่าที่ผ่านมาเทศกาลถูกตัดออกไปจากปฏิทินโรมันทั่วไปก็ตาม และทางการก็ไม่ได้กำหนดให้เทศกาลนี้เป็นวันหยุด แต่ทว่า ผู้คนทั่วโลกก็ยังมีความนิยมเทศกาลนี้ และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แถมยังยอมที่จะควักกระเป๋าสตางค์เพื่อจ่ายเงินเป็นค่าที่ต้องมีส่วนร่วมกับการดำเนินกิจกรรมเทศกาลวันวาเลนไทน์ด้วย
อาทิเช่น การจัดกิจกรรมงานวิวาห์ เนื่องในเทศกาลวันวาเลนไทน์นี้ โดยการจัดงานก็ไม่ต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับฤกษ์งามยามดีว่ามีความเหมาะสมที่จัดงานวิวาห์หรือไม่ แบบวันวาเลนไทน์ เวียนมาตรงกับวันไหนของปี ก็จัดกันเลยทีเดียว ไม่ต้องไปหาหมอดู ดูฤกษ์ ดูยาม ให้ยุ่งยาก
การมอบดอกไม้ หรือช่อดอกไม้ โดยเฉพาะดอกกุหลาบ หรือช่อกุหลาบ ให้แก่คนรัก
การมอบช็อกโกแลตให้แก่คนรัก เป็นต้น
โดยทั้งหมดทั้งปวงนี้ ล้วนเป็นเงินที่ต้องควักกระเป๋าสตางค์ออกมาจ่ายกันทั้งสิ้น แถมยังมีราคากว่าช่วงเวลาปกติอีกต่างหาก แต่ทว่า ก็ยินดีและเต็มใจจ่าย เพื่อมิใช่อะไรอื่น แต่เพื่อคนรักนั่นเอง
มีรายงานว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อดอกกุหลาบ หรือช่อกุหลาบ เพื่อมอบให้คนรักเนื่องในเทศกาลวันวาเลนไทน์ทั่วโลกมีมูลค่ามหาศาล
เฉพาะเอาเพียงแค่ใน “สหรัฐอเมริกา” ประเทศที่กล่าวได้ว่า ชาวประชาควักกระเป๋าสตางค์เพื่อจ่ายเป็นค่าสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้ ก็มากโขอยู่ ตลอดช่วงที่ผ่านมา
ในรายงานของมหาวิทยาลัยบอสตัน ในสหรัฐฯ เอง ระบุว่า ย้อนกลับไปในปี 1989 (พ.ศ. 2532) ดอกกุหลาบต้องถูกตัดเพื่อมาจำหน่ายในเทศกาลวันวาเลนไทน์ในสหรัฐฯ จำนวนมากถึง 1 พันล้านดอก มากกว่าจำนวนประชากรของสหรัฐฯ ในขณะนั้นถึงกว่า 4 เท่า โดยสหรัฐฯ ในช่วงปี 1989 ดังกล่าวนั้น มีจำนวนประชากรอยู่ที่ 246.8 ล้านคนเท่านั้น
และเมื่อปี 2023 (พ.ศ. 2566) ที่เพิ่งผ่านพ้นมา ปรากฏว่า ในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ปีที่แล้ว ดอกกุหลาบถูกตัดเพื่อจำหน่ายในเทศกาลวันแห่งความรักนี้เพิ่มจำนวนเป็น 2,800 ล้านดอก มากกว่าจำนวนประชากรของสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่มีจำนวนราว 335 ล้านคนถึงกว่า 8 เท่า
เรียกว่า ความต้องการดอกกุหลาบ มีตัวเลขทะยานพุ่ง
เช่นเดียวกับเม็ดเงินรายได้จากการจำหน่ายดอกกุหลาบในช่วงเทศกาลวันแห่งความรักนี้ ก็ต้องบอกว่า พ่อค้า แม่ขาย มีรายได้อย่างเป็นกอบกำ ด้วยมูลค่าโดยเฉลี่ยแบบดอกต่อดอก ก็อยู่ที่ราวๆ ดอกละ 4 – 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 144 – 215 บาท) หรือร้านขายปลีกหลายร้านก็โก่งราคาได้ถึง 5 – 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อดอกเลยก็มี (คิดเป็นเงินไทยราว 180 – 287 บาท) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร้านตามเมืองใหญ่ หรือมหานคร เช่น ที่มหานครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก เป็นต้น
ส่วนดอกกุหลาบที่ตกแต่งเป็นช่อ ก็มีหลายราคาตั้งแต่ถูกที่สุดก็อยู่ที่ช่อละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 359 บาท) ไปจนถึง 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราวกว่า 3,229 บาท)
ว่ากันถึงแหล่งดอกกุหลาบที่มาจำหน่ายในสหรัฐฯ นอกจากฟาร์มดอกกุหลาบในสหรัฐฯ เองแล้ว ก็ยังมีนำเข้าจากโคลอมเบีย และเอกวาดอร์ โดยในการนำเข้าดอกกุหลาบจากทั้งสองประเทศนี้ ก็มีสัดส่วนอยู่ที่โคลอมเบีย จำนวนคิดเป็นร้อยละ 60 และจากเอกวาดอร์ ร้อยละ 40
ทั้งนี้ สาเหตุปัจจัยที่สหรัฐฯ นำเข้าดอกกุหลาบจากโคลอมเบียในอัตราส่วนถึงร้อยละ 60 นั้น ก็มีเหตุผลเรื่องยุทธศาสตร์นโยบายในการปราบปรามยาเสพติดรวมอยู่ด้วย โดยทั้งทางการสหรัฐฯ และทางการโคลอมเบีย ต้องการให้เกษตรกรหันมาทำไร่ปลูกดอกกุหลาบ แทนที่ไร่โคคาที่มีอยู่แต่เดิม ซึ่งโคคาที่ว่านั้น ก็คือสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดชนิด “โคเคน” หรือ “โคเคอีน” นั่นเอง
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐฯ ได้ศึกษาวิจัยแล้วพบว่า ในแต่ละปีชาวสหรัฐฯ ต้องควักกระเป๋าสตางค์เพื่อซื้อดอกกุหลาบเนื่องในเทศกาลวันวาเลนไทน์รวมแล้วนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยกัน ส่วนในปี 2024 (พ.ศ. 2567) นี้ ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ ตัวเลขกลมๆ (คิดเป็นเงินไทยก็ราวกว่า 107,640 ล้านบาท)
นอกจากดอกกุหลาบ ก็ยังมี “ช็อกโกแลต” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของขวัญที่จะมอบให้แก่คนรักเนื่องในเทศกาลวันวาไลนไทน์ ด้วยรูปทรงต่างๆ ของช็อกโกแลต ที่ส่วนใหญ่ก็มักจะทำเป็นรูปหัวใจ หรืออาจมีการสั่งทำให้มีรูปทรงโดยเฉพาะขึ้น เพื่อแทนใจ แทนความรัก เนื่องในเทศกาลวันแห่งความรักอย่างนี้ แต่ก็ต้องแลกมากับการควักกระเป๋าจ่ายในแต่วันวาเลนไทน์หลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยกัน โดยในสหรัฐฯ ราคาขายปลีกก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 7 – 13 ดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นราคาที่ยังไม่ปรับขึ้น ณ ปัจจุบันที่ไร่ผลิตต้นช็อกโกแลตในละตินอเมริกา เผชิญกับภาวะโลกร้อนจนส่งผลกระทบต่อผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งส่งผลให้ราคาทะยานพุ่งขึ้นไปอีก