"เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว สำหรับ "นิรุฒ มณีพันธ์" ผู้ว่าการ รฟท. ถือเป็นผู้ว่าคนนอกคนแรกที่อยู่จะครบวาระ 4 ปี ในเดือนเมษายน 2567 แม้จะเป็นผู้ว่าฯคนนอก แต่ก็ฝากฝีไม้ลายมือพัฒนาองค์กรรถไฟไทยให้มีชีวิตชีวา ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนผ่านองค์กรรถไฟไทย สู่ความทันสมัยอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในอีก 2 เดือนข้าง ต้องจับตา ไปที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่มีส่วนสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาระบบรางของประเทศ อย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. อันเนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ทำหน้าที่พัฒนาระบบรางเดินรถไฟให้บริการผู้โดยสารทั่วประเทศ มีโครงข่ายกว่า 4,000 กม. และเป็น "แลนด์ลอร์ด" มีทรัพย์สินที่ดินอยู่ทั่วประเทศอันประเมินค่าไม่ได้ การรถไฟฯ ยัง มีเมกะโปรเจกต์มูลค่ามหาศาล ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นรถรถไฟทางคู่เฟสที่ 2 ตัวชี้วัดผลสำเร็จ อนาคตโลจิสติกส์ของไทย โครงการที่จะพาระบบรางสู่ความทันสมัย คือรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา - หนองคาย / รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เท่านี้ก็คงพอ ที่จะชี้ชัด ความสำคัญ องค์กรระบบรางแห่งนี้
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทิศทางของการรถไฟฯ ภายใต้การคุมบังเหียนของนายนิรุฒ ผู้ว่าการ รฟท. คนนอก ที่ผันตัวจากนายแบงค์ มาเป็นเบอร์ 1 ของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ตั้งแต่ 24 เม.ย. 2563 ต้องถือว่าทำหน้าที่ได้ดีเกินคาด สร้างผลงานไว้ไม่น้อย เปลี่ยนผ่านองค์กรการรถไฟฯ ทั้งในด้านการให้บริการ ที่ต้องฟันฝ่าวิกฤตในช่วงการระบาดของสถานการณ์ โควิด-19 ผู้โดยสารใช้บริการลดลง ในระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่รถไฟไทย
สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชม นายนิรุฒ คือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเดินรถในช่วงโควิด กำหนดจำนวนขบวนรถที่เดินรถให้บริการอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดสมดุลย์ทั้งในแง่ของการให้บริการแก่ประชาชน และไม่ทำให้องค์กรประสพผลขาดทุนหนักเข้าไปอีกในช่วงที่ผู้โดยสารและรายได้ลดลง รวมถึง การเปิดมุมมองใหม่ของการท่องเที่ยวทางรถไฟ โดยใช้รถ KIHA 183 มาให้บริการท่องเที่ยวแบบครบวงจร สร้างชื่อ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้อย่างทั่วถึง โด่งดังไกลไปถึงต่างประเทศ ต่างชาติยอมควักกระเป๋าซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อมาใช้บริการนั่งรถไฟ KIHA 183 เที่ยวในเมืองไทยเลยก็มี
ขณะที่การก้าวสู่ความทันสมัย ก็เห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งการเปิดให้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นปลายทางของรถไฟทางไกล โดยยังคงบริการบางส่วนไว้ที่สถานีรถไฟกรุงเทพหัวลำโพง ไม่โอนอ่อนตามความเห็น ฝ่ายการเมืองเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้ปัจจุบันสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีลักษณะการให้บริการที่สมดุลย์ เป็นเส้นทางให้บริการรถไฟ เช่น โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง กับรถไฟทางไกล และในอนาคตก็จะเป็น สถานีปลายทางของรถไฟความเร็วสูง ในทุกเส้นทางด้วย การเริ่มก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายใหม่ที่ประชาชนรอคอยมานานกว่า 30 ปี ใน 2 เส้นทาง เด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ และเส้นทางบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม หรือการนำนวัตกรรมมาใช้กับโครงการทดสอบหัวรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ที่จะนำมาปรับพลิกโฉมการให้บริการในอนาคตของรถจักรไทย
ในด้านโครงการสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอจัดหัวรถจักรและตู้โดยสารใหม่เพื่อมาทดแทนของเก่า เสริมศักยภาพการให้บริการของการรถไฟฯ รองรับโครงการก่อสร้างทางคู่ที่ทยอยเสร็จอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง การดูแลสวัสดิภาพสวัสดิการของคนรถไฟที่เปิดโอกาสให้ลูกจ้างเฉพาะงานสอบบรรจุเป็นพนักงาน รฟท. การเปิดรับบุคคลภายนอกเพื่อสอบเข้ามาเป็นพนักงานทดแทนอัตรากำลังที่ขาด ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากพนักงาน และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. จนแสดงจุดยืนให้อยู่ดำรงตำแหน่งต่อในวาระที่สองอีก 4 ปี ถือเป็นการสานต่องานให้ต่อเนื่อง เข้าคอนเซปท์ “ 4 ปีซ่อม อีก 4 ปี สร้าง อย่างแท้จริง”
ขณะนี้ยังไม่เห็นท่าทีของนายนิรุฒ ผู้ว่าการ รฟท. ที่จะครบวาระ 4 ปีในเดือนเมษายนนี้ แสดงออกมาให้เห็นว่าจะอยู่ต่อหรือไม่ จึงกลายเป็นความหนักใจของผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ภายใต้การกำกับดูแลของ "นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ "นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีที่กำกับดูแลการรถไฟฯ ต้องคิดหนักว่า แม้นายนิรุฒ จะนั่งตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. ก่อนการเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย แต่เมื่องานของการพัฒนาระบบรางที่เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ กำลังก้าวหน้าไปอย่างรวเร็ว การเปลี่ยนม้ากลางศึก เอาคนใหม่เข้ามา ก็ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้งาน ปรับตัวอีกนานกว่าจะก้าวต่อไปได้ น่าจะครบวาระรัฐบาลชุดนี้พอดี
ท้ายที่สุดอาจต้องจับตาว่า เมษายนนี้ "นายนิรุฒ มณีพันธ์" น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดกับสถานการณ์การเมืองเช่นนี้หรือไม่