วันนี้ ( 13 กุมดภาพันธ์ 2567 ) ที่วัดศรีจอมเรือง อ.เมือง จ.พะเยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมองค์กรเครือข่าย ได้จัดทำโครงการเปิดพื้นที่เรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ”เวียงน้ำเต้า” ทุนวัฒนธรรมชาติพันธุ์ไทใหญ่ในชุมชนเมืองเก่าพะเยา”ภายใต้โครงการวิจัย “เวียงน้ำเต้า: การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่เมืองเก่าพะเยา”

โดยมีนางสุมิตรา กัณฑมิตร นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา เป็นประธานเปิดพิธี
 ผศ.ดร.สหัทยา วิเศษ  หน.โครงการวิจัยฯ กล่าวถึงโครงการวิจัยนี้ว่า เมืองพะเยาในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรพยาว หรือภูกามยาว ลักษณะของเวียงมีรูปร่างคล้ายผลน้ำเต้าขนาดกว้างประมาณ 1,000 เมตร และยาวประมาณ 1,500 เมตร มีแนวคูเมืองล้อมรอบหนึ่งชั้น ปรากฏร่องรอยของโบราณสถานที่เป็นวัดร้างหลายแห่ง และพบหลักฐาน ศิลาจารึก จำนวนมาก เช่น ศิลาจารึก ตำนาน จดหมายเหตุ และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น โบราณวัตถุ โบราณสถาน อาคาร สถาปัตยกรรมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก พื้นที่เมืองเก่าเวียงน้ำเต้า มีทุนวัฒนธรรมซึ่งมีศักยภาพในการเป็นพื้นที่เรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ใน 5 ด้านได้แก่ ด้านประวัติศาสตร์เมืองพะเยาและประวัติศาสตร์ชุมชน ด้านภูมิสถาปัตยกรรม ด้านวิถีชีวิตและชาติพันธุ์ด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม และด้านพุทธศิลป์หินทรายสกุลช่างพะเยา


ผศ.ดร.สหัทยา กล่าวต่อไปว่า โครงการวิจัยฯ ได้เล็งเห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนเมืองเก่าเวียงน้ำเต้าคือ กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ (เงี้ยว) ในชุมชนวัดศรีจอมเรืองที่ยังคงดำรงอยู่ โดยเฉพาะอาหารซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่มีการสืบสานกันมาจากบรรพบุรุษ ข้าวส้มหรือข้าวเงี้ยว ข้าวกั้นจิ้น บาละฉ่อง ถั่วเน่าเหม๊อะ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับรสชาติของอาหารวัฒนธรรมเงี้ยวในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง คณะวิจัยได้พัฒนาต้นแบบ Creative Learning Space : เรียนรู้ เข้าใจพัฒนาการของชุมชนเวียงน้ำเต้าผ่านความหลากหลายของอาหาร และนำเสนอในรูปแบบของนิทรรศการทุนวัฒนธรรมชาติพันธุ์ไทใหญ่ในชุมชนเวียงเก่าพะเยา เพื่อให้เป็นต้นแบบของพื้นที่การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ของคนในชุมชน และคนในจังหวัดพะเยาต่อไป 

​​​​​​​ ​​​​​​​