กลายเป็นอีก 1 วิกฤตประจำปีของประเทศไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี ที่ทุกภาคส่วนต้องระดมสรรพกำลังเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ตลอดจนหมอกควันทั้งที่เกิดในประเทศและในประเทศเพื่อนบ้าน ปลิวข้ามแดนรวมตัวกันในไทย ผนวกกับมลพิษที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะ ระบบขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมและการเผาไหม้จากภาคเกษตร ทำให้สภาพอากาศทั่วประเทศถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควัน ที่สั่งสมมานานกว่า 10 ปี นำไปสู่การเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ให้รัฐบาลจัดทำ “พ.ร.บ.อากาศสะอาด” ให้คนไทยเข้าถึงอากาศสะอาดได้อย่างเท่าเทียม
หากศึกษาด้วยความเข้าใจและเข้าถึงต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็จะสามารถบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนทั่วประเทศได้ ทั้งยังนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบแบบองค์รวมในระยะยาว โดยพิจารณาจากข้อมูลรอบด้านครอบคลุมกลไกด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การคลัง รวมถึงการกำหนดมาตรการจูงใจ (Incentive) และบทลงโทษ ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชนน พ.ศ... ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ก็จะทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ผศ.ดร. อริศรา เจริญปัญญาเนตร อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สนอแนวทางในการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนว่า ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะที่มาจากการเผาทันที ซึ่งแนวทางที่จะส่งเสริมทุกภาคส่วนให้ลดการเผาได้ คือ
1. รัฐบาลต้องมีนโยบายชัดเจนในการให้มาตรการจูงใจ เช่น การสนับสนุนด้านการเงินกับเกษตรกรที่ไม่เผาตอซัง แต่นำมาเป็นวัตถุดิบในการมาทำ biomass” ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือจัดหานวัตกรรมที่สามารถช่วยลดการเผาได้
2. การบังคับให้เอกชนทุกรายมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ และมีนโยบายไม่รับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผาและบุกรุกป่า ตลอดจนขึ้นทะเบียนผู้รับซื้อที่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ
3. รัฐบาลต้องจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนอย่างเป็นระบบและมีมาตรการควบคุมไม่ให้เผาและบุกรุกป่า
4. ธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ต้องมีมาตรการตรวจสอบที่รัดกุมและไม่ให้สินเชื่อหรือปล่อยกู้ ให้เกิดการเพาะปลูกในพื้นที่ผิดกฏหมาย
5. รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อสนับสนุนทีมป้องกันไฟป่า ในการจัดตอิดตั้งระบบเตือนภัย ซื้อเครื่องมือหรืออุปกรณ์ป้องกันไฟ ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
6. ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดตั้งสหกรณ์ประจำตำบล เพื่อให้บริการการเก็บเกี่ยว รวบรวมเศษวัสดุทางการเกษตร ในการนำไปทำพลังงานทดแทน
7. ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการเผา และสร้างค่านิยมไม่เผาขยะและวัสดุเหลือใช้
8. ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ในการบริหารจัดการและป้องกัน ตลอดจนจัดทำความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันหมอกควันข้ามแดน
9. ภาครัฐ ควรให้การสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจ ให้คนย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่บุกรุกป่า มาทำการเกษตรในพื้นที่ราบและมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย
ส่วนการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 และปัญหาหมอกควันในระยะยาว ภาครัฐต้องจัดทำ Big Data เชื่อมโยงระบบการผลิตภาคการเกษตรอย่างสมดุลและเหมาะสม ควบคู่กับการจัดทำแผน Zoning สินค้าเกษตร ปรับโครงการสร้างการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลักให้เหมาะกับพื้นที่และดิน โดยเฉพาะข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงสร้างกลไกเพื่อให้เกิดแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นแบบไม่เผา การจัดการ supply chain ผลผลิตที่ได้จากนวัตกรรมการไม่เผา ดูแลกลไกการตลาด เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาและรายได้ที่มั่นคง การสร้างโอกาสการซื้อขาย Carbon Credit รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้วยความโปร่งใส
สำหรับฝุ่นควันที่เกิดจากรถยนต์และภาคการขนส่ง รัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้ากับผู้ใช้ที่ชัดเจนและการให้สิทธิประโยชน์กับผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อลดต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสนนราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการที่เข้มงวดในตรวจสอบการปล่อยมลพิษทางอากาศที่เป็นมาตรฐานสากล
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 จะต้องมีบทลงโทษที่สามารถควบคุมหรือหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดฝุ่นและหมอกควันได้ เช่น กำหนดค่าปรับ หรือ มาตรการทางภาษี กับผู้ที่ปล่อยมลพิษฝุ่น PM2.5 เพื่อให้การแก้ปัญหานี้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน