นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่่า มีการประชุมการให้บริการของผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้นของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หลังจากในช่วงที่ผ่านมาตนได้รับการร้องเรียนจากนักธุรกิจและสายการบินถึงความไม่สะดวกในการให้บริการภาคพื้น ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของหน่วยงานกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการการดำเนินธุรกิจการบินกรุงเทพ (BKK AOC) และตัวแทนสายการบินทุกสาย มาให้ข้อมูลและหารือร่วมกัน

ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีผู้ให้บริการภาคพื้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 2 ราย คือ 1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษในฐานะเป็นสายการบินแห่งชาติ 2. บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (Bangkok Flight Services : BFS) โดยสายการบินร้องเรียนว่า บริการของการบินไทยไม่ได้มาตรฐาน

"ก่อนหน้านี้ ตนได้สอบถามผู้บริหารการบินไทย ซึ่งการบินไทยได้ทำหนังสือ ยืนยันว่าบริการภาคพื้นดินของการบินไทยอยู่ในระดับที่ดี แต่เมื่อยังมีสายการบินร้องเรียนจึงต้องประชุมหารือกัน โดยวันนี้ผู้แทนสายการบินหลายสาย ให้ข้อมูลตรงกันว่าการบินไทยใช้อุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย และพบว่ามีปัญหาบุคลากรลาออกบ่อย จึงต้องจัดหาคนมาทดแทนแต่ต้องเร่งเพิ่มคนเพราะขาดแคลนมาก จึงอบรมไม่ครบตามเวลา ทำให้มีปัญหาการทำงานไม่มีคุณภาพ"

นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบปัญหาอาคารหลักมีหลุมจอดเครื่องบินที่หลุมจอดประชิดอาคาร (Contract Gate) มีจำนวนไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากมีการซ่อมในทางขับ (taxiway) เพื่อให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน จึงเห็นว่าจะพยายามให้สายการบินไปใช้อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT- 1) มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาหลุมจอดประชิดอาคาร (Contract Gate) และทำให้ผู้โดยสารสะดวก แต่สายการบินยังกังวลเรื่องบริการภาคพื้นดิน การจัดการลำเลียงสัมภาระ จึงยังไม่มั่นใจที่จะย้ายไปใช้บริการที่ SAT-1

ดังนั้น ได้มอบหมายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ไปหารือร่วมกับสายการบินต่างๆ โดยมีเป้าหมายในการย้ายไปใช้บริการที่อาคาร SAT-1 อีก 100 เที่ยวบิน/วัน จากปัจจุบันมีประมาณ 82 เที่ยวบิน/วัน หรือเป็น 200 เที่ยวบิน/วัน โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 25 เที่ยวบินต่อวัน ภายใน 1 เดือน ขณะเดียวกัน ก็ให้หารือกับการบินไทย และ BFS ว่าจะมีขีดความสามารถให้บริการภาคพิ้นดินได้เพียงพอหรือไม่ กรณีที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 บริษัทไม่มีความพร้อมในการให้บริการภาคพื้นได้เพียงพอ จะให้บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จํากัด (AOTGA) เข้ามาช่วยดำเนินการให้บริการภาคพื้นเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบการทั้ง 2 บริษัทก่อน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้สรุปรายงานกระทรวงฯ ภายใน 2 สัปดาห์

สำหรับในส่วนของการบินไทย จะต้องเร่งปรับปรุงบริการทั้งด้านอุปกรณ์ และบุคลากรให้มีมาตรฐานโดยเร็ว โดยจะมีการตรวจคุณภาพการให้บริการทุกเดือน หากยังมีปัญหา สายการบินยังคงร้องเรียน อาจจะมีการพิจารณายกเลิกสัญญาบริการภาคพื้นของการบินไทยก่อนหมดสัญญาสัมปทานได้ ซึ่งสัญญาเหลืออีกกว่า 10 ปี

ขณะที่การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น กรณีที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 บริษัทไม่มีความพร้อมในการให้บริการภาคพื้นได้เพียงพอ จะให้บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จํากัด (AOTGA) เข้ามาช่วยดำเนินการให้บริการภาคพื้นเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบการทั้ง 2 บริษัทก่อน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

"สำหรับการจัดหาผู้ร่วมลงทุนบริการภาคพื้นรายใหม่ ซึ่งเป็นรายที่ 3 อยู่ระหว่างดำเนินการ ทอท.รายงานว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในเดือน เม.ย. 2567 เนื่องจากต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนเอกชน พ.ศ. 2562 อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคนั้น ซึ่งการทำให้ไปถึงเป้าหมายจะต้องมีการดำเนินงานหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งคือความพร้อมของสนามบิน ระบบจัดการสัมภาระ และกระบวนการให้บริการภาคพื้นต่างๆ ซึ่งการเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ และการปรับปรุงการให้บริการเพิ่มประสิทธิภาพของสนามบินในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารจะทำให้มีเที่ยวบินมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น เชื่อมั่นว่าจะทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และกลับมาอยู่ในอันดับ 20 ของสนามบินที่ดีที่สุดได้"

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า การเปิดประมูลผู้ให้บริการภาคพื้นดิน สนามบินสุวรรณภูมิรายที่ 3 นั้น คณะกรรมการมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 กำลังพิจารณาร่างทีโออาร์ คาดจะได้รับความเห็นชอบภายในเดือน ก.พ. 2567 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นร่างทีโออาร์ คาดใช้เวลา 1 เดือนตามกฎหมาย และเปิดประมูลได้ปลายเดือน เม.ย. 2567 ให้เวลายื่นเอกสาร 45 วัน และพิจารณาคัดเลือกประมาณ 3 เดือนจะได้ตัวผู้ให้บริการรายที่ 3

นายกีรติ กล่าว่า ปริมาณความต้องการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เปิดฟรีวีซ่า ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 ตัวเลขเที่ยวบินอยู่ที่ 800 เที่ยวบิน/วัน ปัจจุบันอยู่ที่ 1,000 เที่ยวบิน/วัน หรือเพิ่มขึ้น 20% ทำให้การให้บริการ Contract Gate ที่อาคารหลักไม่เพียงพอ โดยมีประมาณ 180 เที่ยวบินที่ต้องใช้ Bus Gate ที่ไม่สะดวกเป็นปัญหาในการให้บริการ ซึ่ง รมว.คมนาคมให้นโยบายในการบริการที่ทุกเที่ยวบินต้องใช้ บริการ Contract Gate โดยจะผลักดันอย่างน้อยวันละ 100 เที่ยวบินไปใช้อาคาร SAT-1 ให้ได้
สำหรับสถิติระยะเวลารอสัมภาระ ตามมาตรฐาน ใบแรก (First Bag) จะต้องน้อยกว่า 30 นาที ซึ่งในเดือน ก.ย. 2566 สถิติ ใบแรก (First Bag) น้อยกว่า 30 นาที ประมาณ 97.50% และใบสุดท้าย (Last Bag ) น้อยกว่า 50 นาที 97.55% อยู่ในมาตรฐาน แต่ในเดือน ม.ค. 2567 First Bag น้อยกว่า 30 นาที ประมาณ 94.58% ใบสุดท้าย (Last Bag ) น้อยกว่า 50 นาที 91.54% แนวโน้มเริ่มบริการแย่ลง ซึ่งมาจากผู้ให้บริการภาคพื้นดินมีปัญหานั่นเอง