จั่วหัวมาเช่นนั้น มิได้หมายความว่า “ยูเครน” จะเอา “เสือดาวหิมะ” สัตวป่าประเภทเสือ ที่มีเขี้ยว มีเล็บ ตัวเป็นๆ มาเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ แต่เป็นการนำนายพลท่านหนึ่ง ซึ่งได้รับฉายาว่า “เสือดาวหิมะ (Snow Leopard)” มาเป็น “ผู้บัญชาการคนใหม่ของกองทัพยูเครน”
โดยนายพลผู้มีฉายาว่า “เสือดาวหิมะ” คนที่ว่านั้นก็คือ “พล.ท.โอเลกซานเดอร์ ซีร์สกี” นั่นเอง ได้รับการแต่งตั้งจาก “ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน” ให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก” หรือ “ผบ.ทบ.” คนใหม่ของยูเครน ซึ่งในยูเครนเรียกว่า “ผู้นำกองกำลังภาคพื้นดินแห่งยูเครน (Commander of the Ukrainian Ground Forces)”
ทั้งนี้ การแต่งตั้งพล.ท.ซีร์สกีข้างต้น ก็ให้มาดำรงตำแหน่งแทนที่ “พล.อ.วาเลอรี ซาลุชนี” ซึ่งประธานาธิบดีเซเลนสกี มีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่ง เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ก็ต้องถือว่า พล.ท.ซีร์สกี ผู้มีฉายาว่า “เสือดาวหิมะ” ผู้นี้ “ไม่ธรรมดา”
เพราะมียศเพียง “พลโท (พล.ท.)” แต่ได้รับการ “อวยตำแหน่ง” ให้นั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ ซึ่ง ผบ.ทบ.คนเก่านั้น มียศถึง “พลเอก (พล.อ.)”
นอกจากนี้ พล.อ.ซึ่งเพิ่งถูกปลดออกจาก ผบ.ทบ. ไปนั้น ก็ได้รับเสียงยกย่องสรรเสริญจากประชาชนว่า เป็น “วีรบุรุษแห่งยูเครน (Hero of Ukraine)” เนื่องจากทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการรบกับกองทัพรัสเซียผู้รุกรานมาตั้งแต่ต้น คือ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) เป็นต้นมา ซึ่งเสียงยกย่องสรรเสริญข้างต้น ก็สะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ซาลุชนี ประสบความสำเร็จพอสมควรในการต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย ในสงครามที่ยูเครนถูกรุกราน ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา
ว่ากันถึงเกียรติประวัติความสำเร็จของ พล.ท.ซีร์สกี เจ้าของฉายา “เสือดาวหิมะ” ผู้นี้ ก็นับว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยในการสู้รบกับกองทัพรัสเซียผู้รุกรานเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสู้รบป้องกันกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน และการต่อต้านกองทัพรัสเซียในเมืองอื่นๆ ของยูเครน เมื่อไม่กี่วันก่อน
ประวัติความเป็นมา พล.ท.ซีร์สกี เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1965 (พ.ศ. 2508) ที่หมู่บ้านโนวินกี เมืองวลาดิเมียร์ แคว้นวลาดิเมียร์โอบลาสต์ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย
พล.ท.ซีร์สกี เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนทหาร “เรด อาร์มี อะคาเดมี (Red Army Academy)” ในกรุงมอสโก เมืองหลวงของสหภาพโซเวียตรัสเซียในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นเมืองหลวงของรัสเซีย หลังอดีตสหภาพโซเวียนรัสเซียล่มสลายแล้ว
ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 “ซีร์สกี” ถูกระดมมาประจำการอยู่ในยูเครน ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นดินแดนหนึ่งของสหภาพโซเวียตรัสเซีย
หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตรัสเซีย “ซีร์สกี” ก็ได้ศึกษาด้านการทหารต่อที่ “มหาวิทยาลัยกลาโหม หรือการป้องกันประเทศ แห่งชาติของยูเครน” (National Defence University) ในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน พร้อมกันนั้น เขาก็เข้าประจำการในฐานะนายทหารของกองทัพยูเครน
ผลงานการนำทัพสู้รบครั้งสำคัญของเขานั้น อาทิเช่น การนำทัพยูเครน ต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครนที่ฝักใฝ่รัสเซีย และรัสเซียให้การสนับสนุน ในแคว้นโดเนตส์ก เมื่อปี 2014 (พ.ศ. 2557)
ทั้งนี้ ผลงานการสู้รบในสมรภูมิที่แคว้นโดเนตส์กนี้เอง ที่ทำให้นายพลซีร์สกี ได้รับฉายาว่า “เสือดาวหิมะ (Snow Leopard)” พร้อมกับได้รับการอวยยศ อวยตำแหน่งให้เป็นหนึ่งในนายทหารระดับสูงที่บัญชาการกองทัพของยูเครน
ส่วนในการสู้รบกับกองทัพรัสเซียผู้รุกรานสงครามครั้งล่าสุดนี้ ตลอดช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา พล.ท.ซีร์สกี ก็นำทัพรบกับกองทัพรัสเซียในแนวหน้าในพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครนเป็นหลักใหญ่ ซึ่งในสมรภูมิดังกล่าวนั้น นอกจากต้องต่อกรกับกองทัพรัสเซียแล้ว ก็ยังสัประยุทธ์กับกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซีย และประจัญบานกับนักรบรับจ้างวากเนอร์ ซึ่งเป็นเขี้ยวเล็บที่สำคัญของกองทัพรัสเซียในการรุกรานยูเครนในครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ ผลงานที่สำคัญของ พล.ท.ซีร์สกี ตลอดช่วงหลายเดือนก่อนหน้า ก็ได้นำทัพยูเครน ปกป้องกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน จากการถูกกองทัพรัสเซีย ซึ่งก็ทำให้เขาถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “วีรบุรุษของยูเครน” ด้วยเหมือนกันเฉกเช่นเดียวกับ พล.อ. ซาลุชนี ผู้กลายเป็นอดีต ผบ.ทบ.ของยูเครนไปแล้วนั้น
ใช่แต่เท่านั้น ในปฏิบัติการสู้รบในเมืองอื่นๆ ของยูเครน เพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพรัสเซีย พล.ท.ซีร์สกี ก็มีผลงานป้องกันเมืองคาร์คีฟ ทางตอนเหนือของยูเครน จากการถูกกองทัพรัสเซีย และกลุ่มนักรบรับจ้างวากเนอร์ ถล่มโจมตีไว้ได้ด้วยเหมือนกัน
รวมถึงการที่เขามีแผนการวางยุทธศาสตร์ ในการปฏิบัติการสู้รบทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ของยูเครน ในการเผชิญศึกกับกองทัพรัสเซีย ซึ่งพล.ท.ซีร์สกี ต้องการยึดพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ให้กลับมาเป็นของยูเครนอีกให้ได้ ซึ่งก็ต้องติดตามนายพลโท เจ้าของฉายา “เสือดาวหิมะ”ผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนใหม่ของยูเครนกันต่อไปว่า จะเป็นไปตามความประสงค์แค่ไหน
สำหรับ เหตุผลของการปลด พล.อ.ซาลุชนี ออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.ของยูเครน ทางประธานาธิบดีเซเลนสกี อ้างว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยนตัวผู้นำทัพเพื่อปรับแนวทางในการรับมือต่อสู้กับกองทัพรัสเซียครั้งใหม่
อย่างไรก็ดี ก็มีกระแสเสียงกระเส็นกระสายจากบรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะออกมาเช่นกันว่า เพราะประธานาธิบดีเซเลนสกี ไม่ปลื้มกับพล.อ.ซาลุชนีในระยะนี้สักเท่าไหร่ ทั้งจากเรื่องการจัดการปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในกองทัพ ซึ่งจะส่งผลต่อการช่วยเหลือสนับสนุนจากต่างชาติในการทำสงครามกับรัสเซีย และอีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ พล.อ.ซาลุชนี อาจเปลี่ยนบทบาทจากผู้นำกองทัพมาเป็นนักการเมือง ซึ่งจะกลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของประธานาธิบดีเซเลนสกี ในฐานะที่ นายพลผู้นี้ได้รับการยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษของยูเครน” และเมื่อสำรวจคะแนนนิยมระหว่างบุคคลทั้งสอง ก็ปรากฏว่า ประธานาธิบดีเซเลนสกี ได้รับความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 62 ตามหลังแบบทิ้งห่างกันไกลกับ พล.อ.ซาลุชนี ที่ชาวยูเครนให้ความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 88 ด้วยประการฉะนี้ ประธานาธิบดีเซเลนสกี จึงให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกมิได้